สรุปการตั้งค่ากล้อง ถ่ายภาพแสงเหนือ

ฤดูการถ่ายแสงเหนือช่วงต้นปีกำลังจะเริ่มต้นขึ้นแล้ว หลายท่านน่าจะมีแผนการเดินทางในใจแล้ว ในโพสนี้แอดมิน Pixelmate มาย่อยสรุปการตั้งค่ากล้องที่เหมาะสมสำหรับถ่ายแสงเหนือกัน

แสงเหนือ ถ่ายกี่โมง ทิศไหน

แสงเหนือส่วนใหญ่จะมาช่วงหลังพระอาทิตย์ตก เรื่อยไปจนถึงประมาณตีสองของเวลาท้องถิ่น อาจมีบางคืนที่แสงเหนือแรงจริง ๆ อาจถ่ายได้ทั้งคืน เรื่อยไปจนถึงเช้าก็มี ดังนั้นถ้าฟ้าเริ่มมืดสนิทแล้ว ให้เตรียมตัวหา Location เหมาะ ๆ ตั้งกล้องรอถ่ายได้เลย

ทิศทางหลักที่เราจะเห็นแสงเหนือได้ก็จะเป็นทางเหนือ (เว้นแต่ไปถ่ายแสงใต้) และในกรณีที่อยู่ละติจูดสูงมากพอ เช่น โลโฟเตน แสงเหนือก็จะอยู่ค่อนมาทางกลางฟ้า และถ้าแสงเหนือแรงมาก ๆ ก็จะเห็นแสงเต็มทั่วทั้งฟ้าเลยทีเดียว

แต่ถ้าอยู่ละติจูดต่ำ แสงเหนืออาจะเห็นได้ทางปลายขอบฟ้าทางทิศเหนือ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราจะเห็นแสงเหนือได้ก็ต่อเมื่อฟ้าเปิดโล่งเท่านั้น อุปสรรคสำคัญที่ทำให้เราไม่เห็นแสงเหนือก็คือเมฆนั่นเอง หากเมฆปกคลุม แม้แสงเหนือระเบิดเต็มฟ้า ก็ได้แต่นอนรออยู่ในที่พักอย่างน่าเสียดาย

อุปกรณ์ถ่ายภาพ

การถ่ายภาพแสงเหนือ แนะนำให้ใช้กล้องใหญ่ เพราะควบคุมค่ากล้องได้มากกว่า หากไม่มี จะใช้กล้องคอมแพคก็ได้ แต่ข้อจำกัดจะเปลี่ยนเลนส์ไม่ได้ และนส์ไม่ไวแสง

อุปกรณ์ที่ต้องมี

  1. กล้อง จะเป็น DSLR หรือ Mirrorless ก็ได้
  2. เลนส์มุมกว้าง ที่มีค่า f กว้าง (เลนส์ไวแสง) เช่น 16-35 f/2.8 หรือถ้าใครใช้ Sony ก็จะมี 14mm f/1.8 ก็จะไวแสงมาก เก็บแสงน้อย ๆ ได้ดีมาก
  3. ขาตั้งกล้อง จำเป็นมาก เพราะการถ่ายภาพแสงเหนือต้องใช้สปีดชัตเตอร์ที่นาน
  4. สายลั่นชัตเตอร์ อันนี้ไม่จำเป็นมาก เพราะสามารถตั้งเวลาถ่ายก็ได้

การตั้งค่ากล้อง

ให้เริ่มต้นด้วยค่ากล้องด้านล่างนี้ แล้วลองถ่ายภาพดู หากสว่างไม่พอ สามารถปรับเพิ่มได้

  • ค่า ISO หรือความไวแสงที่ 3200
  • รูรับแสง หรือ f ที่ตัวเลขน้อยที่สุด จะได้ภาพสว่างที่สุดเพราะแสงเข้ากล้องมากที่สุด
  • ความเร็วชัตเตอร์ 10-15 วินาที

ลองกดถ่ายภาพดู หากได้ภาพที่พอใจแล้ว สามารถใช้ค่านี้ถ่ายภาพได้เลย หรือหากภาพยังมืดไป สามารถเพิ่ม ISO ขึ้นได้ถึง 6400 หรือปรับความเร็วชัตเตอร์ให้นานขึ้นเป็น 20 วินาที

ถ้าสังเกตดู การตั้งค่ากล้องเริ่มต้นของการถ่ายภาพแสงเหนือ จะคล้ายกับการถ่ายภาพทางช้างเผือกเลย

แต่ทั้งนี้ หากเจอแสงเหนือที่แรงมากจริงๆ แสงเหนือจะสว่างขึ้น ทำให้ต้องปรับค่ากล้องเพิ่มเติม โดยยังคงค่ารูรับแสงกว้างสุดเช่นเดิม

  • ปรับลด ISO ลงมาเหลือ 1600 หรือ 800 กรณีที่แสงเหนือแรงมาก เพื่อให้คุณภาพไฟล์ที่ดี มีนอยซ์ที่น้อยลง
  • ปรับความเร็วชัตเตอร์ให้สั้นลง เหลือ 2-4 วินาที เพราะแสงเหนือที่แรง จะเต้นพริ้วไหวเร็วด้วย หากเราใช้ชัตเตอร์ที่นานเกินไป แสงเหนือจะเป็นปื้นๆ ดังนั้นสำคัญมากๆ ที่เราจะต้องสังเกตความแรงของแสงเหนืออยู่ตลอดเวลา และปรับความเร็วชัตเตอร์ให้สอดคล้องกัน แสงเหนือที่แรง เต้นเร็ว มักจะมีความสว่างอยู่แล้ว ดังนั้นไม่ต้องกังวลว่าปรับความเร็วชัตเตอร์สั้นลง ภาพจะมืดเกินไป

การหาโฟกัส

การโฟกัสในที่มืดนั้นเป็นความยากและท้าทายเสมอ เพราะในที่มืด ระบบออโต้โฟกัสทำงานได้ลำบาก สำหรับการแสงเหนือ ส่วนใหญ่เราต้องโฟกัสให้ถึงระยะอินฟินิตี้เป็นหลัก และยิ่งเราใช้ค่ารูรับแสงกว้าง ดังนั้นระยะชัดจะไม่กว้างนัก ควรตรวจสอบก่อนถ่ายให้มั่นใจว่ากล้องโฟกัสเข้าแล้ว โดยสังเกตว่าดาวคมชัด

หากรอบตัวมีแสงไฟ เช่น ไฟถนน หรือไฟจากอาคารบ้านเรือน ที่อยู่ห่างไปคร่าว ๆ ประมาณ 10 เมตร สามารถใช้ระบบออโตโฟกัสของกล้องได้เลย (แอดมินเชคจาก DoF calculator แล้วว่าชัดแน่นอน)

เมื่อทำการโฟกัสได้แล้ว ให้ตั้งระบบโฟกัสเป็น manual เพื่อให้ง่ายต่อการถ่ายภาพ หลังจากนี้เราก็แค่กดถ่ายอย่างเดียวโดยที่อุ่นใจได้ว่าภาพจะชัดแน่นอน ตัวกล้องไม่เสียเวลาหมุนหาโฟกัสอีกด้วย และพยายามอย่าสัมผัสวงแหวนโฟกัสที่ตัวเลนส์ เพราะอาจทำให้โฟกัสเคลื่อนได้

เช่น ด้านหลังมีไฟถนน แม้ไม่ใช่ทิศทางที่เราถ่ายแสงเหนือ เราสามารถหมุนกล้องมาโฟกัสที่ไฟถนนก่อน ตั้งเป็น Manual แล้วหมุนกลับไปถ่ายเฟรมของแสงเหนือที่เราต้องการ

เมื่อถ่ายเสร็จแล้ว กลับถึงที่พัก อย่าลืมตั้งกลับเป็นออโตโฟกัสอีกครั้ง

มือถือถ่ายแสงเหนือได้ไหม

ถ่ายได้ครับ ถ้ามี Pro mode โดยเราจะต้องควบคุมให้สามารถลากความยาวชัตเตอร์ที่ยาวได้

สิ่งสำคัญ คือเราต้องมีขาตั้งกล้อง และตัว clamp สำหรับหนีบจับมือถือให้มั่นคง

มือถือรุ่นใหม่ๆ สามารถถ่ายในที่มืดได้ดี รวมถึงมี Night mode สามารถกดถ่ายภาพกลางคืนได้ ซึ่งก็ต้องอาศัยมือที่นิ่ง หรือมีขาตั้งกล้องช่วยยึดอีกทีเพื่อความคมชัด

ข้อจำกัดของมือถือมีค่อนข้างมาก ถ้าแสงเหนือไม่ค่อยแรงมาก อาจจะถ่ายไม่ติดก็ได้ครับ

การถ่ายภาพ portrait กับแสงเหนือ

ส่วนใหญ่เราไปถ่ายแสงเหนือ ก็จะต้องไปถ่ายในบริเวณที่มืดสนิท ไม่มีแสงไฟรบกวน ดังนั้นถ้าจะถ่ายภาพบุคคลคู่กับแสงเหนือ ตัวคนจะมืดมาก แต่ทั้งนี้ มีเทคนิคง่าย ๆ แก้สถานการณ์นี้ โดยการใช้ไฟฉายมือถือ ฉายวาบไฟเข้ามาเพิ่มเติมเพื่อเปิดความสว่างให้กับตัวแบบ

กล้องหลักที่ถ่ายภาพแสงเหนือ อาจใช้ชัตเตอร์สปีดที่ยาว 8-15 วินาที แต่การฉายไฟเปิดฉากหน้า ให้เปิดเพียงสั้น ๆ ชั่วคราวก็พอ ประมาณ 1 วินาที เนื่องจากไฟฉายมือถือมีความสว่างมาก เมื่อเทียบกับบรรยากาศรอบๆ ดังนั้นถ้าเปิดไฟฉายไว้นานเกินไปก็จะทำให้ตัวแบบสว่างเกินไป

การถ่ายภาพ เริ่มจากการฉายไฟไปที่ตัวแบบก่อน เพื่อทำการล็อคโฟกัส จากนั้นค่อยถ่ายจริง เพราะบางทีการโฟกัสไปที่ฉากหลังเพียงอย่างเดียว ตัวแบบอาจไม่อยู่ในระนาบโฟกัส ทำให้เบลอได้

ลักษณะการฉายไฟ สามารถเปิดตรงๆ หรือใช้วิธีการวาบแสงเข้ามา เหมือนเพนท์แสงก็ได้ แต่ขอให้คนที่ยืนฉายไฟต้องอยู่ในตำแหน่งที่แสงจากไฟฉายจะไม่เข้าเฟรมของกล้องหลัก

บทสรุป

การถ่ายแสงเหนือนั้นไม่ยาก การตั้งค่ากล้องก็ค่อนข้างตรงไปตรงมา คล้ายกับการถ่ายภาพทางช้างเผือก โดยใช้เลนส์รูรับแสงกว้าง ดัน ISO ไปที่ 3200 แล้วตั้งความเร็วชัตเตอร์ที่ 15 วินาที จำค่านี้เป็นตัวเริ่มต้น ก็ถ่ายแสงเหนือได้แล้ว

ขอให้ทุกท่านที่ออกล่าแสงเหนือในปีนี้ โชคดีได้ฟ้าเปิด และแสงเหนือแรง ๆ กันทุกคืน ได้ภาพสวย ๆ กลับบ้านอย่างมีความสุขครับ