เตรียมตัวถ่ายภาพทางช้างเผือกสำหรับมือใหม่ ง่ายๆใน 5+1 ขั้นตอน

ช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม นับเป็นปลายฤดูกาลสำหรับการออกถ่ายภาพใจกลางทางช้างเผือกแล้ว อย่างไรก็ตามข้อดีของการถ่ายภาพใจกลางทางช้างเผือกในช่วงโค้งสุดท้ายที่ประเทศไทยก็คือสามารถจัดคอมโพสิชั่นได้ง่าย เนื่องจากว่าใจกลางทางช้างเผือกเคลื่อนตัวลงมาอยู่ใกล้กับเส้นขอบฟ้า ไม่ต้องแหงนหน้ากล้องสูงจนเกินไป เหมาะกับการใส่ human element เข้าไปในเฟรมภาพ รวมถึงยังสามารถถ่ายทางช้างเผือกโค้งๆ แบบ panorama ได้อย่างสวยงามอีกด้วย โดย panorama ในช่วงเดือนนี้เราจะเริ่มถ่ายจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปถึงทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

ในโพสต์นี้จะขอแนะนำเทคนิคการถ่ายภาพทางช้างเผือกสำหรับมือใหม่ ว่าต้องเตรียมอุปกรณ์และเตรียมการตั้งค่าอย่างไรบ้าง สามารถอ่านรายละเอียดได้ในคำบรรยายภาพของแต่ละรูปได้เลยครับ

ติดตาม content และรูปสวยๆได้ทุกสัปดาห์ทางเพจ และ IG: pixelmate_th

https://www.facebook.com/pixelmateth

https://www.instagram.com/pixelmate_th/

1. เลือกสถานที่ เชคอากาศ พระจันทร์ ทิศทางของทางช้างเผือก

สถานที่ที่เหมาะกับการถ่ายภาพทางช้างเผือกที่สุดต้องมีความมืดของท้องฟ้าอยู่ในช่วง Bortle Class 1-3 กล่าวคืออยู่ห่างไกลจากเมืองใหญ่ ปลอดมลภาวะทางแสงรบกวน อย่างไรก็ตามพื้นที่ Bortle Class 4 ก็พอที่จะถ่ายภาพทางช้างเผือกได้เช่นกัน แต่รายละเอียดของทางช้างเผือกก็จะลดทอนลงไป สามารถตรวจสอบความมืดของท้องฟ้าโลเคชั่นที่เราจะไปถ่ายภาพได้ที่เวบพยากรณ์อากาศ ยกตัวอย่างเช่น www.clearoutside.com

และควรเลือกออกถ่ายภาพทางช้างเผือกในช่วงที่ฟ้าปลอดโปร่งไร้เมฆ รวมถึงหลีกเลี่ยงคืนที่มีแสงจันทร์รบกวน เนื่องจากว่าความสว่างของดวงจันทร์จะทำให้ท้องฟ้ามีความสว่าง ลดทอนรายละเอียดของทางช้างเผือก เวบที่สามารถดูพยากรณ์อากาศและการขึ้นลงของดวงจันทร์ที่ใช้งานได้ง่าย แนะนำเป็น www.clearoutside.com เช่นเดียวกันครับ

ทิศทางของใจกลางทางช้างเผือกนั้นโดยปกติแล้วจะเปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเดือนและเวลาของแต่ละวัน ในช่วงแรกนั้นแนะนำให้ใช้แอพพลิเคชั่นช่วยในการค้นหาตำแหน่งของทางช้างเผือก โดยปกติแล้วใจกลางทางช้างเผือกจะเริ่มสังเกตได้ในทิศตะวันออกเฉียงใต้ไปถึงทิศตะวันตก แอพที่แนะนำให้นักถ่ายภาพมีติดไว้ในสมาร์ทโฟนก็คือ PhotoPills

2. ขาตั้งกล้อง

นอกจากกล้องและเลนส์แล้ว อุปกรณ์ที่จะขาดไม่ได้เลยคือขาตั้งกล้องที่แข็งแรง มั่นคง สามารถรองรับน้ำหนักของกล้องและเลนส์ได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากว่าการถ่ายภาพดาวและทางช้างเผือกต้องใช้การเปิดหน้ากล้องหลายวินาที หากขาตั้งกล้องไม่มั่นคงเมื่อเกิดลมพัดอาจจะทำให้ภาพที่บันทึกได้ขาดความคมชัดอันเกิดจากการสั่นไหว

3. เลนส์ f กว้าง ๆ

ตัวแปรหลักที่สำคัญในการถ่ายภาพทางช้างเผือกก็คือเลนส์ครับ เลนส์ที่แนะนำให้ใช้คือเลนส์ไวแสง หรือเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างๆ โดยมาตรฐานคือกว้างตั้งแต่ f2.8 ยิ่งรูรับแสงกว้างก็จะสามารถรับสัญญาณภาพได้ดีกว่า อย่างไรก็ตามเลนส์ที่มีค่า f3.5 หรือ f4 ก็สามารถใช้งานได้เช่นกัน เพียงแต่ว่าต้องใช้ iso สูงขึ้น ภาพที่ได้จะมีสัญญาณรบกวนมากกว่า

4. สายลั่นชัตเตอร์ หรือระบบหน่วงเวลา

อุปกรณ์เสริมอีกอันนึงก็คือสายลั่นชัตเตอร์ การใช้สายลั่นชัตเตอร์นั้นเพื่อป้องกันการสั่นไหวของกล้อง ลองจินตนาการว่าหากเราใช้นิ้วกดชัตเตอร์ที่ตัวกล้อง เมื่อหน้ากล้องเปิดหลังจากกดปุ่มชัตเตอร์แล้ว ภาพที่ได้จะเกิดการสั่นไหว เพราะการใช้นิ้วกดที่ตัวกล้องจะมีการสั่นไหวเกิดขึ้น การใช้สายลั่นชัตเตอร์ก็เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้กล้องสั่นไหวนั่นเอง อย่างไรก็ตามกล้องสมัยใหม่นั้นมีฟังก์ชั่นหน่วงเวลาของชัตเตอร์ สามารถใช้งานฟังก์ชั่นนั้นได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่ต้องตั้งเวลาหน่วงชัตเตอร์ไว้อย่างน้อย 2 วินาที เพื่อให้มั่นใจว่าหลังปล่อยนิ้วจากปุ่มกดชัตเตอร์แล้ว กล้องจะหยุดนิ่งไม่สั่นไหวก่อนหน้ากล้องจะเริ่มเปิดรับแสง

5. การตั้งค่าที่เหมาะสม

การตั้งค่า สำหรับมือใหม่นั้นเราขอแนะนำให้เริ่มใช้ ISO ที่ 3200 และใช้ค่ารูรับแสงกว้างสุดเท่าที่เลนส์ของเรามี จากนั้น shutter speed ให้ใช้กฎ 400 สำหรับกล้อง Full frame ส่วนกล้อง crop sensor นั้นแนะนำให้ใช้กฎ 300 ในการคำนวณหาค่า shutter speed ที่สูงที่สุดที่สามารถใช้งานได้ ดังเช่น สมมติใช้กล้อง Nikon Z6 ซึ่งเป็นกล้อง full frame ถ่ายภาพที่ระยะ 20 mm สามารถกำหนดค่า shutter speed ด้วยกฎ 400 โดยนำ 400/20 จะได้ 20 วินาที หมายความว่าหากเราถ่ายภาพที่ shutter speed ไม่เกิน 20 วินาที ที่ระยะ 20 mm เราจะได้ภาพที่เม็ดดาวในเฟรมภาพเป็นจุดที่ยอมรับได้ ไม่ยืดเป็นเส้นยาวจนเกินไป

6. Median Stack

อันนี้ขอยกให้เป็น +1 หรือให้เป็น option เสริม