White Balance in Landscape Photography

หัวข้อที่อยากนำมาคุยวันนี้ เป็นประเด็นที่สำคัญมากในการถ่ายภาพ นั่นคือ White Balance (WB) เพราะ WB นั้นมีผลอย่างมากกับโทนสีในภาพของเรา หลายคนอาจกังวล หรือมีคำถามในใจเวลาเราออกถ่ายภาพ landscape ว่าควรตั้ง WB ค่าไหนดีถึงจะเหมาะสม ถ่าย RAW แล้วจะตั้งค่า WB อะไรดี

โพสนี้มีคำตอบครับ

ติดตาม content และรูปสวยๆได้ทุกสัปดาห์ทางเพจ และ IG: pixelmate_th
https://www.facebook.com/pixelmateth
https://www.instagram.com/pixelmate_th/
https://pixelmate.space/

White Balance (WB) คืออะไร

WB หรือสมดุลแสงสีขาว คือกระบวนการที่ปรับแก้สี (color cast) ที่อยู่ในภาพ ที่อาจคลาดเคลื่อนไปเพราะแสงในธรรมชาติ ให้กลับมาเป็นสีที่ตรง (neutral) โดยเป็นการปรับสีทั้งภาพ เพื่อให้เราสามารถปรับให้สีของภาพให้แม่นยำมากขึ้น

เช่น ถ้าอยู่ในสภาพแสงที่ติดส้มมากๆ ในสภาพแสงไฟจากหลอดไส้ทังสเตน กล้องจะสามารถใส่ WB ที่ติดฟ้า เพื่อชดเชยให้สีของภาพมาใกล้เคียงสมดุลสีขาวให้ได้มากที่สุด ซึ่ง WB นี้ก็คือรูปหลอดไฟทังสเตนนั่นเอง ให้สิ่งที่เป็นสีขาวในภาพ มีสีขาว เช่น คนใส่เสื้อสีขาว ถ้าไม่ได้ปรับ WB ถูกต้อง สีเสื้อก็จะไม่ใกล้เคียงสีขาว

ในทางกลับกัน ถ้าเราถ่ายภาพในแสงที่ติดฟ้ามากๆ เช่น อยู่ในเงา เมื่อใช้ WB shade ก็จะสามารถชดเชย เติมสีส้มเข้าไปในภาพให้เหมาะสม เพื่อปรับสมดุลให้แสงสีขาวถูกต้องมากขึ้น

และถ้าหากเราถ่ายภาพเป็น RAW format แล้ว จะสามารถปรับ WB ทีหลังด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้ เช่น Adobe Lightroom หรือ Camera Raw เป็นต้น ถ้าเราเข้าใจ concept ของ WB ก็จะทำให้ปรับแต่งภาพได้ถูกต้อง

แต่ก็ยังมีหลายคนมีคำถามในใจว่า แล้วจะใช้ WB อะไรจะดีที่สุด ตรงที่สุด โดยส่วนตัวเราคิดว่าไม่มี WB ที่เป็นคำตอบที่ถูกที่สุดครับ ค่า WB ที่ตรง ถ่ายวัตถุสีขาวได้เป็นสีขาว ไม่ได้แปลว่าภาพจะออกมาจะได้โทนสีตรงใจผู้ถ่ายภาพ หรือตรงใจผู้ชมก็เป็นได้

บางครั้ง เราก็ปรับภาพไปอีกโทนนึง ไปตามจินตนาการ ไม่ได้อ้างอิงสมดุลสีขาวเลยก็มี 

ถ่ายเป็นไฟล์ Raw แล้วจำเป็นต้องเลือก WB ตามสถานการณ์หรือไม่

ตอบสั้นๆว่า “ไม่จำเป็น” ครับ

เนื่องจากการถ่าย Raw file เป็นการเก็บข้อมูลดิบจากกล้อง และเราสามารถปรับค่า WB ทีหลังได้ ดังนั้นถ้าถามว่าต้องเลือก WB อีกหรือไม่ ก็ตอบว่าไม่จำเป็นครับ อาจจะกลับไปย้อนถามก่อนว่า ชอบที่จะจบหลังกล้อง หรือชอบที่จะปรับแต่งภาพเพิ่มเติมในคอมพิวเตอร์ ถ้าเกิดว่าจะมีการปรับแต่งทีหลังอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นที่จะต้อง set WB ให้เป๊ะตามสถานการณ์มากครับ แต่ถ้าไม่ชอบแต่งรูป ก็ยังสามารถใช้ Auto WB (AWB) ได้เลย เพราะเดี๋ยวนี้ AWB ของกล้องก็ฉลาดมากๆแล้ว

สำหรับสายแลนด์ ส่วนใหญ่เราก็แนะนำให้ใช้ Daylight หรือ AWB ได้เลย

ที่ต้องระวังคือ หากจะใช้ไฟล์ JPG เป็นหลัก ก็ควรที่จะเลือก WB ให้เหมาะสม เพราะไฟล์ JPG เราไม่สามารถแก้ไข WB ทีหลังได้แล้ว แนะนำว่าใช้ AWB เป็นค่าเริ่มต้นได้เลย

WB ที่เหมาะสมสำหรับภาพกลางคืน และภาพทางช้างเผือก

คำถามที่ยากคำถามนึงคือ ถ้าถ่ายภาพกลางคืน ควรใช้ WB อะไรดี โดยเฉพาะภาพทางช้างเผือก ซึ่งเรามีเทียบให้ดูครับว่า ถ้าใช้ WB ต่ำเกินไป หรือสูงเกินไป สีของทางช้างเผือกจะไม่สวย ค่าที่เหมาะสมจะอยู่ที่ราวๆ 3800 K ซึ่งอาจจะบวกลบได้ตามสภาพแสงรบกวน หรือสภาพอากาศหน้างานนั้นๆ แต่เหมือนในประเด็นที่แล้ว การตั้งค่าก็ไม่จำเป็นต้องตั้งค่าตามนี้เป๊ะๆ หากเราถ่าย Raw file อยู่แล้ว และจะจำไปแต่งภาพทีหลัง สามารถใช้ Auto WB ได้เลย สะดวกกว่า แต่สีของภาพหลังกล้องอาจจะคลาดเคลื่อนไปบ้าง ขึ้นกับความแม่นยำของ AWB ของกล้องนั้น ๆ

การตั้งค่าให้ใกล้เคียง 3800 K มีประโยชน์ช่วยให้เราดูภาพหลังจอมีความใกล้เคียงกับสีของท้องฟ้ายามกลางคืนมากขึ้น อาจจะช่วยจัดองค์ประกอบภาพ หรือชดเชยแสงได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็อยู่ที่ควรชอบส่วนบุคคลด้วยครับ เพราะบางคนชอบปรับแต่งภาพกลางคืนให้ท้องฟ้าติดอมฟ้ากว่าปกติ บางคนชอบอมส้ม

ถ่าย bracketing, panorama, timelapse ควรตั้ง white balance อย่างไรดี

เมื่อเราถ่ายภาพหลายใบมารวมกัน ไม่ว่าจะเป็น bracketing (ถ่ายภาพคร่อมแสง) ถ่ายภาพ timelapse หรือถ่ายภาพพาโนรามา

(ดู Tutorial การถ่ายและแต่งภาพพาโนรามาได้ที่นี่ https://www.facebook.com/pixelmateth/posts/137574944884975)

ขอแยกวิเคราะห์เป็น 3 สถานการณ์ครับ
➡️ Bracketing เป็นการถ่ายคร่อมแสง ซึ่งส่วนมากจะไม่ขยับเฟรมกล้อง และการกดถ่ายก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นสภาพของแสงจะยังไม่เปลี่ยนมาก การเลือกใช้ WB ก็สามารถเลือกตามสถานการณ์นั้น ๆ ได้เลย หรือเลือกใช้ Auto WB ตามความสะดวก เพราะค่า WB ที่กล้องเลือกให้ก็จะแทบไม่เปลี่ยนไปเลย
➡️ Panorama การถ่ายภาพพาโนรามาที่มีการแพนกล้อง จะเริ่มซับซ้อนขึ้น เพราะบางพื้นที่อาจมีสภาพแสง และโทนสีในธรรมชาติที่ไม่เท่ากัน เช่น การแพนกล้องจากส่วนเงามืด ไปถึงบริเวณแสงส้ม ดังนั้นหากใช้ AWB กล้องอาจเลือกใช้ค่า WB ที่ต่างกันได้ ดังนั้นในตอนปรับแต่งภาพเราต้องอย่าลืม sync ค่า WB ให้เท่ากันเสียก่อน ซึ่งโดยมากแล้วโปรแกรมต่อภาพพาโนรามาจะช่วยแก้ไขตรงนี้ได้อยู่บ้างแล้วครับ หรือหากเราใช้ preset WB เช่น daylight ก็จะแม่นยำกว่า เพราะกรอบของค่า WB ที่กล้องจะเลือกใช้จะอยู่ในช่วงแคบๆประมาณ 5500K ดังนั้นสีจะไม่แกว่งมาก
➡️ Timelapse การเก็บภาพระยะเวลานาน ๆ เพื่อทำเป็นวีดีโอ ในกรณีนี้เราแนะนำให้ใช้ preset WB ไปเลย เพราะสะดวกกว่ามาก ไม่ควรใช้ AWB เพราะจะแกว่งมาก การเลือก WB ที่เหมาะสม ทำให้วีดีโอ timelapse ที่ออกมาไม่ดูกระตุกจนเกินไปนัก แต่เราเองก็ไม่ใช้ผู้เชี่ยวชาญการถ่ายภาพ timelapse มากนัก หากสนใจข้อมูลเชิงลึกสามารถหาข้อมูลจากเว็บไซต์หรือเพจอื่นๆได้ครับ
https://www.naturettl.com/time-lapse-photography-guide/
https://photosentinel.com/…/construction-long-term…/
https://chrisbrayphotography.com/tips/time_lapse_videos.php

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกท่าน ขอให้ถ่ายรูปให้สนุก ได้ภาพสวย ๆ ทุกคนครับ อย่าลืมช่วยกันกด like และกด share โพสนี้เป็นกำลังใจด้วยนะครับ