แกะรอยองค์ประกอบภาพ Composition Hack

มองลึกลงไปในภาพถ่าย มาแกะรอยว่าแต่ละภาพที่เราเห็น มีองค์ประกอบอะไรบ้าง จึงเป็นภาพที่น่าสนใจ

เราตั้งใจว่าจะลองเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับการจัดองค์ประกอบภาพ ซึ่งบางคนมักจะเรียกว่ากฎขององค์ประกอบภาพ เช่น จุดตัดเก้าช่อง กฎสามส่วน เป็นต้น แต่พอได้มองลึกจริงๆแล้ว เรื่ององค์ประกอบภาพนี้ถ่ายทอดออกมาไม่ง่ายเลย และอาจจะเรียกว่า “กฎ” ไม่ได้สักทีเดียว เพราะภาพแต่ละภาพมันไม่ได้มีสูตรหรือหลักตายตัว หลักขององค์ประกอบภาพมันก็ไม่ได้ตายตัว (หรือมีความ subjective นั่นเอง) และเราก็เชื่อว่า กฎ นั้นมีไว้แหกเสมอ เราก็เลยเห็นภาพที่น่าสนใจมากๆแต่อาจจะไม่เข้าข่ายองค์ประกอบภาพที่เราเคยเรียนรู้มาก่อนเลยก็ได้ เพราะช่างภาพแต่ละคนอาจตีความองค์ประกอบภาพที่ตนเองถนัดในรูปแบบของตนเอง

เราเลยเปลี่ยนวิธีการเล่าใหม่ มาเป็นการเปิดเบื้องหลังว่า แต่ละภาพ ทำไมถึงมีความน่าสนใจ มีลูกเล่นขององค์ประกอบต่างๆ เสริมให้กับภาพได้อย่างไร องค์ประกอบภาพ ก็ตามชื่อของมัน คือการที่ภาพมีองค์ประกอบ เล็กบ้างใหญ่บ้าง ที่เสริมให้องค์รวมของภาพนั้นเป็นภาพที่สวยงามและน่าสนใจ อาจจะมี element ต่างๆ ทั้งเส้น วัตถุ

มาแบบจัดเต็ม 16 ภาพ ติดตามกันเลย

ฝาก like ฝาก share และฝากกดติดตามเราทาง Facebook Pixelmate และ IG @pixelmate_th ด้วยนะครับ

Cactus
Photo by @boonrawd_photography

องค์ประกอบต่างๆในภาพนี้มีความหลากหลายของรูปทรงมากๆ ตั้งแต่ทรงกลม สามเหลี่ยม แท่งแนวตั้ง ทำให้ภาพดูสนุก มีความหลากหลาย โดยฉากหน้าเป็นกระบองเพชรทรงกลม ซึ่งก็มีตั้งแต่ขนาดใหญ่ไปเล็ก (วงสีเขียว) ไล่เรียงซ้อนกันไปเรื่อยๆ ส่งเรื่องราวไปยังภูเขาที่ฉากหลัง และก่อนที่จะไปถึงภูเขา เราก็จะเห็นเรื่องราวของดอกไม้ (วงสีน้ำเงิน) และกระบองเพชรอีกชนิดนึงที่เป็นแท่งแนวตั้ง (ลูกศรสีเหลือง) ทำให้ภาพแนวตั้งดูน่าสนใจขึ้น และล้อไปกับรูปทรงของภูเขาด้วย

ส่วนตัวภูเขานั้นก็ไม่ได้เป็นภูเขาทื่อๆ แต่มีความหยัก และด้วยมุมนี้เราก็จะเห็นความซิกแซกของเส้นได้ด้วย (เส้นแดง) โดยรวมทำให้ภาพมีความหลากหลาย และถ้ารวมไปถึงสีสันที่ท้องฟ้า เมฆลายสวยๆก็ทำให้ภาพนี้สมบูรณ์แบบเต็มสิบได้เลย

ฤดูหนาวที่ Abraham Lake
Photo by @sasinahm

นอกจากพระเอกที่เป็นภูเขาแหลมมีความหยักแบบฟันปลา ดูไม่ทื่อ และมีแสงบางๆจากพระอาทิตย์ขึ้น ภาพนี้ยังโดดเด่นที่มีรูปทรงของฉากหน้าที่หลากหลาย ทั้งเส้นซิกแซกจากรอยแตกของน้ำแข็งที่มีหิมะแทรกอยู่ และเส้นรอยแตกของน้ำแข็งอื่นๆ โดยทั้งหมดทำให้สายตาของคนดูภาพ พุ่งไปที่ฉากหลัง และมีเมฆมีเห็นเส้นบางๆนำสายตามาที่ภูเขาเสริมไปอีก

สิ่งที่เพิ่มเติมทำให้ภาพนี้ดูสนุกขึ้นก็คือฟองอากาศรูปวงกลมจากฟองอากาศ มาเบรกความตรงและความหักมุมของรูปทรง และมี balance ที่ดีอีกด้วย ถ้าแบ่งกลางภาพจากเส้นซิกแซก จะพบว่า ด้านซ้ายจะมีฟองอากาศกลมๆที่เล็กกว่า ไม่โดดเด่นมาก ในขณะที่น้ำหนักของรูปทรงกลมทางฝั่งขวาจะหนักกว่า แต่ฝั่งซ้ายก็ถูกเสริมด้วยจำนวนของเส้นรอยแตกน้ำแข็งที่มากกว่า ส่วนทางขวามีเส้นรอยแตกเพียงเส้นสองเส้น ทำให้โดยรวมทั้งสองฝั่งดูมี balance ที่ลงตัว เป็นภาพที่ดูแล้วมีลีลาสนุกอีกภาพนึง 

Mount Assiniboine View
Photo by @piriyaphoto

การใช้ฉากหน้าเป็นทรงสามเหลี่ยม จะทำให้ที่ฉากหน้าน่าสนใจ สามารถส่งให้คนดูมองไปที่จุดเด่นของภาพได้ด้วย ซึ่งภาพนี้ก็ใช้ทรงสามเหลี่ยมได้ดี (เส้นน้ำเงิน) เพื่อส่งสายตาไปยังภูเขาที่อยู่ตรงฉากหลัง ซึ่งภูเขาก็เป็นทรงสามเหลี่ยมซ้อนสลับกันไปมาอีกเช่นกัน โดยมี Mount Assiniboine หรือยอดที่สูงที่สุด เป็นยอดที่เด่นที่สุดเนื่องจากยังมีแสงฉาบอยู่ การเลือกช่วงเวลาถ่ายที่ดีที่สุดจึงสำคัญมากที่จะทำให้พระเอกโดดเด่นที่สุด ในขณะที่ภูเขารอบๆไม่โดนแสงไปด้วย

นอกจากนั้นก็ยังมีเส้นเสริมที่ชัดมากๆก็คือเส้นของเนินเขาที่ลาดลงไปทั้งหมด เส้นของเมฆ และมีเส้นเล็กๆที่เป็นรอยในป่า (เส้นเหลือง) ทั้งหมดนี้ก็จะเสริมให้สายตาเรามองไปที่ภูเขาทั้งหมด เรียกได้ว่า element ทุกอย่างเสริมกัน เพื่อให้ Mount Assiniboine เป็นจุดที่เด่นที่สุดในภาพ 

ทุ่งดอกไม้ Glacier National Park รัฐ Montana
Photo by @naene17

จุดเด่นของภาพนี้อยู่ที่ element ของฉากหน้ามีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นลำธารตรงกลาง มีการไหลของน้ำที่หลากหลาย ทั้งการตกลงมาเฉียงซ้าย และเฉียงขวา และกอดอกไม้หากสีทางซ้ายและขวา แต่โดยรวมแล้ว element ทั้งหมดนั้นก็จะสร้างเส้นนำสายตาไปยังภูเขาที่อยู่ตรงฉากหลัง

มีเสริม texture ของท้องฟ้าด้วยก้อนเมฆบางๆที่ย้อมด้วยแสงสีส้มอมชมพูของพระอาทิตย์ตกดิน และภูเขามีทรงเป็นแนวสามเหลี่ยม (ตามที่ลากเส้นสีน้ำเงิน) ทำให้ดูไม่น่าเบื่อ 

Mossy Falls
Photo by @boonrawd_photography

ภาพนี้ถ้ามองธรรมดาก็เหมือนเป็นภาพน้ำตกภาพนึง แต่จริงๆแล้วมีเส้นสายเยอะมาก เส้นที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือเส้นของสายน้ำตก (ลูกศรสีน้ำเงิน) ซึ่งก็มีอยู่สองส่วนคือบริเวณสายน้ำที่ไหลตกลงมาจากหน้าผา และสายน้ำของลำธารที่ไหลต่อไปด้านล่าง โดยทั้งหมดนี้ มีคนเป็นตัวแบบ เบรกอยู่ตรงกลาง (และสีเสื้อเด่นด้วย) ทำให้เส้นของสายน้ำมาบรรจบที่ตัวคนอย่างพอดี

และนอกจากนี้เราก็จะเห็นเส้นสามเหลี่ยมอยู่สองชั้น (เส้นสีแดง) จากแนวของพุ่มไม้ และแนวน้ำตก บวกกับกอไม้ด้านขวา เป็นสามเหลี่ยมอีกอันนึง และมีเส้นตัดซ้อนอีกคู่อยู่ทางด้านบนขวา ทั้งหมดนี้ก็เสริมให้ภาพน้ำตกนี้พิเศษ มีเส้นมากมาย น่าสนใจมากๆ 

Torres del Paine
Photo by @naene17

มุมคลาสสิคมุมนี้เป็นมุมที่ธรรมชาติวางตัวได้เหมาะมากๆอยู่แล้ว เพราะแนวภูเขาจะเทมาตรงกลาง มีเส้นในธรรมชาติจากเนินเขา และแนวของเมฆ (สีเขียว) ที่เฉียงเล็กน้อยและพุ่งมาตรงกลางภาพ ให้เรามองตรงกลางภาพเป็นหลัก

ตรงฉากหน้าก็จะมีเส้นอยู่เช่นกัน เป็นเส้นที่ตัดกันไปมา จากแนวหิน และแนวคลื่น และสุดท้ายไปตัดกับเส้นขอบรอยต่อของทะเลสาบกับภูเขาพอดี ทำให้เพิ่มความน่าสนใจของภาพขึ้นไปอีก นอกจากนี้ก็จะมี element เล็กๆอย่างก้อนหินกลางน้ำ และลายคลื่นที่เป็นน้ำตกจากหินที่ฉากหน้าด้วย 

Tufa ประติมากรรมหินปูน
Photo by @sasinahm

ภาพนี้เด่นมากๆเรื่องการใช้รูปทรงสามเหลี่ยมที่มีตั้งแต่ด้านล่าง เรื่อยไปจนถึงด้านบนภาพ (เส้นเหลือง) เริ่มจากสามเหลี่ยมเล็กๆ ตรงฉากหน้า กอไม้แห้งตรงกลางภาพ เรื่อยไปจนถึงจุดเด่นของภาพซึ่งก็คือแท่งหินปูน ที่ก็วางเรียงตัวกันจนสามารถลากเส้นสามเหลี่ยมล้อกันหินด้านล่างได้อีก เรียกได้ว่าทุกอย่างถูกจัดวางได้อย่างลงตัว

รูปทรงแนวตั้งของแท่งหินปูนที่ดูพุ่งขึ้นก็ทำให้ภาพแนวตั้งใบนี้ดีขึ้นไปอีก มีแท่งสูงต่ำ เล็กใหญ่ไม่เท่ากัน สร้างความหลากหลายให้กับภาพ (ลูกศรสีแดง) 

Icefield Parkway
Photo by @piriyaphoto

ภาพนี้ตอบได้ง่ายมากๆว่าการจัดวางองค์ประกอบภาพหลักก็คือเส้นนำสายตา ซึ่งก็ถือถนนนั่นเอง (เส้นเหลือง) และมีพระเอกหลักอยู่สองอย่างคือรถ และภูเขาหิมะ (วงสีแดง)

นอกจากนี้ถ้ามองละเอียดขึ้น เราก็จะเห็นเส้นของหินด้านริมถนน และแนบภูเขา ที่ทั้งหมดก็พุ่งมาที่กลางภาพด้วย (เส้นน้ำเงิน) และเสริมด้วยแนวโค้งของเมฆที่รับอยู่เหนือภูเขา (เส้นเขียว) ทำให้ทั้งหมด เรามองไปที่ภูเขา ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดเด่นของภาพนี้ 

Yosemite ฤดูหนาว
Photo by @naene17

ภาพนี้ฉากหน้าโดดเด่นมากๆ และมีความหลากหลายของขนาด และการจัดเรียงตัว ด้วยการถ่าย panorama และเลือกจุดตั้งกล้องที่เหมาะสม มองเผินๆเหมือนจะไม่มีอะไรชัดเจน ก็แค่กองหินเรียงๆกัน แต่ถ้าเราลองลากเส้นเสมือนดู ทำให้เราได้เส้นโค้ง 2 รูปแบบคือ แนวเส้นโค้งสีแดง 2 เส้นที่มาจากกอหิมะที่ล้อกันในเชิงการเรียงตัว และเส้นโค้งสีเขียวอีก 2 เส้น ที่มาจากแนวน้ำแข็งและกอหิมะตรงกลางแม่น้ำด้านหลัง

นอกจากนี้แนวภูเขาด้านหลังยังวางตัวเป็นสามเหลี่ยม พุ่งมาที่ตรงกลาง และในเงาสะท้อนก็มีเส้นที่พุ่งเข้ามาอีก ทำให้เรามองตรงกลางภาพอย่างพอดี ซึ่งเป็นจุดที่มีฟ้าสีสวยที่สุดของภาพอีกด้วย ด้วย element ทั้งหมดนี้จึงทำให้ภาพสมบูรณ์ 

Subway
Photo by @sasinahm

แสงเงานับว่าเป็นตัวชูโรงที่ดีมากๆของภาพนี้ เพราะโดยรวมเป็นโทนมืด เมื่อมีจุดสว่างก็จะทำให้กลายเป็นจุดเด่นของภาพขึ้นมาทันที ซึ่งตรงอุโมงค์โค้งด้านหลังที่โดนแสงแบบพอดี ทำให้เหมือนเป็นลำแสงกำลังสาดเข้ามาในอุโมงค์ สถานที่นี้คือ the Subway ในอุทยานแห่งชาติ Zion ซึ่งมันก็ดูเหมือนอุโมงค์รถไฟใต้ดิน ที่เวลามีรถไฟกำลังวิ่งเข้ามา ก็จะมีแสงสาดมาแบบนี้จริงๆ

ถ้าวิเคราะห์ดูก็จะเห็นรูปทรง 2 แบบ คือทรงโค้ง จากส่วนของอุโมงค์ และหินบริเวณรอบๆที่เป็นผนังโค้ง (เส้นน้ำเงิน) และทรงสามเหลี่ยม มีอยู่สองส่วนคือสายน้ำ และบ่อน้ำสีมรกต (เส้นแดง) ซึ่งสามเหลี่ยมทั้งสองก็พุ่งไปตรงกลางภาพ เสริมให้คนดูมองไปยังจุดเด่นของภาพได้ไม่ยาก จริงๆถ้าสังเกตดีๆจะพบว่าขอบเขตทรงสามเหลี่ยมที่อยู่บริเวณสายน้ำ ไม่ได้เกิดจากตัวสายน้ำเองเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากใบไม้ที่อยู่รอบๆสร้างกรอบขึ้นมาด้วย ทำให้เราสามารถเห็นเป็นทรงสามเหลี่ยมขึ้นมาได้ (หรือลากเส้นสามเหลี่ยมเสมือนในใจขึ้นมาได้) นอกจากนี้สายน้ำ (เส้นเหลือง) ก็ทำให้เรามองไปยังอุโมงค์ได้มากขึ้น เป็นเส้นนำสายตา และสร้างสามเหลี่ยมให้ชัดขึ้น 

Pigeon Point Lighthouse กับวันคลื่นแรง
Photo by @piriyaphoto

ความสนุกของการถ่ายภาพ seascape คือการจับจังหวะคลื่นต่างๆ ถ่ายมาหลายๆใบแล้วนำมารวมกันเป็นภาพเดียว ซึ่งภาพนี้ได้ใช้แนวทางนี้ เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับการสาดตัวของคลื่นให้มีหลายทิศทาง (ลูกศรเหลือง) จริงๆแล้วถ้าเป็นคลื่นจังหวะเดียว เราอาจจะไม่ได้ความสมบูรณ์แบบมากขนาดนี้

ภาพนี้มีเส้นค่อนข้างเยอะมากๆ ไม่ว่าจะเป็นแนวหินสลับกับคลื่นสีขาว ทำให้เกิดเป็นเส้น (เส้นน้ำเงิน) บวกกับเส้นขอบฟ้า ก็ทำให้ทุกอย่างพุ่งตรงไปที่ประภาคาร (วงสีแดง) และเมื่อรวมกับเส้นที่เกิดจากเมฆบนท้องฟ้า ก็เสริมให้ประภาคารโดดเด่นเป็นพระเอกได้ 

Temple of Desert
Photo by @boonrawd_photography

จุดเด่นของภาพนี้คือรูปทรงที่เรียบง่ายแต่มีพลัง ทั้งๆที่เป็นรูปทรงสามเหลี่ยมธรรมดา และก็วางแบบสมมาตรเสียด้วย แต่ด้วยการใช้แสงที่มีส่วนมืด (สามเหลี่ยมสีแดง) และส่วนสว่าง (สามเหลี่ยมสีเขียว ทำให้มีลูกเล่น น่าสนใจมากขึ้น และเสริมด้วนเส้นที่มาจากฉากหน้า (เส้นสีน้ำเงิ) ทำให้ element ต่างๆในภาพนี้รวมกันได้อย่างลงตัว

ถ้าสังเกตดีๆจะมีคนตัวเล็กๆอยู่ตรงกลางภาพ (วงสีเหลือง) เห็นเป็นการเทียบขนาดได้อย่างชัดเจนว่ากองดินทั้งสามกองนั้นขนาดใหญ่ขนาดไหน 

Kirkjufell กับพระอาทิตย์เที่ยงคืน
Photo by @naene17

ภูเขา Kirkjufell ทรงสามเหลี่ยม และดวงอาทิตย์ที่ลับอยู่หลังเขาเป็นพระเอกของภาพนี้ โดยมี element ต่างๆที่รายล้อมทั้งหมดส่งผลักดันให้ตาเรามองพระเอกได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ทิศทางของเมฆ (เส้นเขียว) น้ำตก และลำธาร (เส้นเหลือง) นอกจากนี้ด้านล่างบริเวณฉากหน้ายังมีรูปทรงสามเหลี่ยม ที่ล้อกับตัวภูเขาอีกด้วย 

Death Valley Badlands
Photo by @sasinahm
ทีเด็ดในภาพนี้คือเส้นที่ตัดไปตัดมากันแบบเหมือนจงใจเขียนให้ perfect มาก ถ้าใครชอบเส้นภูเขาที่ตัดกันแบบซ้อนไปมาหลายชั้น ต้องชอบภาพนี้แน่นอน การตัดซ้อนนี้ไล่ตั้งแต่ฉากหน้าไปถึงฉากหลังอย่างสมบูรณ์แบบ (เส้นสีแดง)

และนอกจากนี้ยังมีการไล่โทนสว่าง และโทนส้ม ให้อยู่ตรงกลางภาพ และโทนเย็น โทนฟ้า อยู่บริเวณรอบๆ ทำให้ดึงสายตาคนดูมองตรงกลางภาพ โดยที่ไม่ต้องใช้เส้นใดๆเพิ่มเลย 

Lofoten Panorama
Photo by @piriyaphoto

ก่อนหน้านี้เราเคยทำ tutorial เรื่อง panorama ไปแล้ว และการถ่ายภาพพาโนรามาแบบกว้างมากๆ ก็สามารถทำให้เกิดเส้นโค้งที่ฉากหน้าได้ไม่ยาก อย่างในภาพนี้ก็จะเห็นเส้นโค้งทางด้านล่างของภาพ และถ้าได้จังหวัดดีๆ เมฆบนท้องฟ้าเรียงตัวกัน พอต่อพาโนรามาออกมาก็จะได้เส้นโค้งบนท้องฟ้าอีกที

จุดที่อยากนำเสนออีกอย่างก็คือความสมมาตรของภูเขา กับ space ด้านล่าง ซึ่งก็เป็นอ่าวโล่งๆ แต่ด้วยตำแหน่งที่ยืน และการต่อพาโนรามา (บวก warp อีกนิดหน่อย) เราก็ทำให้เกิดความสมมาตร (symmetry) จากต่างรูปทรงได้ไม่ยากเลย และเสริมด้วยทิศทางแสงจากทางด้านขวา (ลูกศรสีแดง) ก็เพิ่มความน่าสนใจให้กับภาพนี้ได้ไม่น้อย 

MARS landscape
Photo by @boonrawd_photography

ภาพนี้มีเส้นสายเยอะมากๆ ทั้งวงกลม เส้นเฉียง แม้เส้นจะเยอะแต่ดูแวบแรกนั้นไม่ได้รกเลย เส้นทั้งหมดนั้นมันถูกจัดวางมุมมองมาอย่างดี และการเสริมคนเข้าไปตรงกลางวงกลม ทำให้ภาพมีเรื่องราวที่ดีมากๆ มีจุดเด่น โดยที่เส้นรอบๆในภาพ ไม่ว่าจะเป็นวงกลมรอบที่อยู่บนเนินเขา รอบตัวคน (เส้นสีแดง) เส้นโค้งหยักๆ (เส้นสีน้ำเงิน) เสริมทำให้มีความหลากหลายขึ้นมากๆ และพอมีเส้นเฉียงจากไหล่เขา (เส้นเขียว) เหมือนมีการไหลลาดลงมา ทำให้ส่งเรื่องมาที่ตรงโซนที่มีวงกลม และคนดูมองที่ตัวแบบที่ยืนอยู่บนยอดเนินได้เป็นอันดับแรก 

ครบ 16 ภาพแล้ว ขอบคุณที่ติดตามอ่าน content ของ Pixelmate นะครับ หวังว่าคงได้ไอเดียใหม่ๆเวลาถ่ายภาพ จัดองค์ประกอบภาพแบบหลากหลายมีลูกเล่นมากขึ้น

สวัสดีครับ