Focus Stacking เก็บภาพให้ชัดเพอร์เฟค คมชัดจากฉากหน้าถึงหลัง

เทคนิคการถ่ายภาพ landscape ที่จะยกระดับให้ภาพเราสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้นคือการใช้ focus stacking หรือบางทีจะเรียกว่า focus blending โดยจะใช้เสมอเวลาเจอสถานการณ์ที่ระยะชัดลึกของภาพไม่สามารถครอบคลุมให้ชัดหมดทั้งภาพได้

เวลาที่เราถ่ายฉากหน้าสวยๆแล้วอยากทำให้ฉากหน้าโดดเด่น เช่น ดอกไม้ หรือลายหินสวยๆ เราจะต้องเอากล้องไปจ่อเพื่อให้ฉากหน้าดูมีพลัง บางทีก็ตั้งกล้องต่ำมากๆเพื่อเข้าใกล้ฉากหน้า ดังนั้นเหตุการณ์ที่ถ่ายยังไงก็ไม่สามารถเก็บให้ชัดได้ในเฟรมเดียวจะเจอได้ค่อนข้างบ่อย แม้จะดัน f แคบสุดก็ตาม ดังนั้นทางแก้ก็คือ ต้องถ่ายที่ระยะโฟกัสหลายๆภาพ แล้วนำมารวมกัน ซึ่งก็คือ focus stacking ซึ่งจะออกแรงเหนื่อยหน่อยทั้งตอนถ่าย และตอนแต่งภาพ เพราะเราจะไม่ได้จบในเฟรมเดียว

ในบทความนี้มาเรียนรู้กันว่า ถ่าย focus stacking ทำอย่างไร และเวลารวมภาพ ทำอย่างไร โดยใช้โปรแกรม Adobe Photoshop เป็นหลัก

📌 ติดตามบทความดีๆได้ใน Pixelmate และฝากติดตาม IG ที่ @pixelmate_th ตอนนี้เราลงเบื้องหลังการเดินทางในอเมริกา เป็นทริปที่พาสามาชิกจากไทยมาตะลุย USA West Coast เกือบเดือนเลย พร้อมทั้งรับวัคซีน

ทำไมต้องทำ Focus stacking

✅ช่วยเพิ่มความชัดของภาพให้ครอบคลุมทั้งภาพ
✅ในบางสถานการณ์ หากจุดโฟกัสอยู่ใกล้กล้องมากๆ แม้ใช้รูรับแสงที่แคบที่สุด ก็ยังไม่สามารถทำให้ฉากหลังของภาพอยู่ในโฟกัสได้
✅การถ่ายภาพที่ hyperfocal distance ก็ไม่ตอบโจทย์
✅การใช้รูรับแสงแคบเกินไปทำให้ความคมของภาพลดลงเพราะเกิด diffraction

วิธีการถ่าย Focus stacking

✅ใช้ขาตั้งกล้อง กางให้มั่นคง เพื่อให้กล้องอยู่กับที่ perspective ไม่เปลี่ยน ทำให้รวมภาพง่ายขึ้น
✅ถ่ายภาพที่ระยะโฟกัสต่าง ๆ กันมาหลายใบ
✅กล้องบางรุ่นจะมีโหมดช่วยถ่าย focus stack แต่ไม่จำเป็นมากนัก เพราะถ่ายเองเร็วกว่า และควบคุมง่ายกว่า
✅การไล่ถ่ายระยะโฟกัส สามารถเลือกจากฉากหน้าไปฉากหลัง หรือถ่ายไล่จากฉากหลังมาฉากหน้าก็ได้
✅ให้เน้นถ่ายระยะใกล้กล้องจำนวนหลายใบ เพราะการโฟกัสที่ระยะใกล้กล้อง จะมีระยะชัดลึกค่อนข้างน้อยกว่า บางครั้งอาจจะชัดลึกแค่ไม่กี่เซนติเมตร แต่ถ้าเกิดระยะเกิน 1 เมตร ไม่จำเป็นต้องถ่ายจำนวนหลายระยะโฟกัสมากนัก

Trick พิเศษ

✅หากกล้องมี live view autofocus และสามารถใช้การจิ้มบนจอหลังกล้องเพื่อโฟกัส สามารถใช้การจิ้มเพื่อเลือกบริเวณที่ต้องการให้ชัดได้เลย จะสะดวกมาก ไม่ต้องเสียเวลาหมุน manual focus ด้วยตนเอง
✅แต่ถ้าแสงน้อย อาจจะใช้ live view autofocus ได้ลำบาก ให้ใช้ manual focus
✅หากต้องการหมุน manual focus เรามีทริกแนะนำคือ ให้ถ่ายจากระยะไกล (ฉากหลัง) เข้ามาที่ฉากหน้า โดยเริ่มต้นใบแรกคือจุดที่เป็น hyperfocal distance (สามารถคำนวณได้จากแอพ) และค่อยหมุนเข้ามาที่ฉากหน้าที่ใกล้ที่สุด
✅ตอนถ่าย manual ถ่ายประาณ 6-10 ใบ เผื่อไว้ แต่ไม่มีหลักตายตัวว่าต้องกี่ใบ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์หน้างาน โดยเน้นถ่ายที่ระยะใกล้มากหน่อยเพื่อให้มั่นใจว่าเก็บฉากหน้ามาได้ครบ
✅ใช้ autofocus เพื่อกดถ่ายฉากหลังให้คมชัดอีก 1 ใบ เพื่อ confirm ว่ามั่นใจว่าได้ฉากหลังที่ชัดแน่ๆ
✅ลองฝึกหัดถ่ายกันฉากหน้ารอบตัว ในบ้าน หรือรอบบ้าน เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับเลนส์ ดูระยะชัดลึกในแต่ละระยะโฟกัส ทางยาวโฟกส และที่รูรับแสงต่างๆ

ภาพต้นไม้และดอกไม้นี้เกิดจากการรวม 3 ภาพ ที่โฟกัสระยะต่างๆกัน ตามภาพ สังเกตได้ว่าแต่ละภาพจะมีจุดที่ชัดไม่เหมือนกัน
ภาพฟองอากาศนี้มาจากบรรยากาศการถ่ายภาพก่อนหน้า โดยนำกล้องไปต่อใกล้ๆฟองอากาศมากๆ และใช้ focus stacking ถ่ายมา 3 ภาพ โดยทำการโฟกัสที่ระยะต่างๆกัน และนำมารวม ปรับแต่งโทนเพิ่มเติมให้สวยงาม

สำหรับการรวมภาพใน Photoshop ติดตามต่อได้ในภาพด้านล่าง

วิธีการรวมภาพ focus stack ด้วยโปรแกรม Photoshop ด้วย Auto Blend

1) เปิดคำสั่ง File → Scripts → Load Files into Stack… ด้วยคำสั่งนี้เราจะสามารถเปิดไฟล์และนำมาเรียงกันเป็น layer ได้ โดยจะมีตัวเลือกว่าจะให้ทำ auto align และสร้าง smart object ด้วยเลยหรือไม่ สำหรับ smart object ให้ติ๊กออกเพราะไม่จำเป็น

2) ในขั้นนี้ เราสามารถตั้งชื่อ layer ให้เข้าใจง่าย เช่น ระยะใกล้ กลาง ไกล เป็นต้น

3) เนื่องจากการถ่ายที่ระยะโฟกัสต่าง ๆ กัน ภาพจะไม่ซ้อนทับกันสนิทแม้ว่าจะใช้ขาตั้งกล้อง และไม่ได้เปลี่ยนช่วงซูม เนื่องจากมีการเคลื่อนของชิ้นเลนส์ ทำให้มุมภาพเปลี่ยนไปเล็กน้อย แต่สามารถแก้ไขได้โดยการทำ auto align แต่ถ้าไม่ได้ทำ auto align มาตั้งแต่ขั้นตอนที่แล้ว ให้เลือกทุก layer ที่ต้องการ align แล้วใช้คำสั่ง Edit → Auto-Align Layers…

4) จากขั้นตอนนี้เราสามารถ crop ส่วนที่เกินจากการ align ทิ้งไปได้

5) จากนั้นทำการรวมภาพ focus stack ที่ aligned แล้ว ด้วยคำสั่ง Edit → Auto-Blend Layers… และเลือก Method แบบ Stack Images ส่วนตัวเลือกด้านล่างทั้ง Seamless Tones and Colors หรือ Content Aware Fill จะเลือกหรือไม่เลือกก็ได้

6) โปรแกรมจะสร้าง layer mask ที่เหมาะสมกับทุก layer เพื่อเลือกส่วนชัดนำมาแสดงผล ซึ่งเราสามารถปรับแต่ง layer mask ต่อได้ตามชอบ

ตัวอย่างภาพที่ใช้ focus stacking