ภาพแลนด์กับการเลือกแสง ถ่ายภาพย้อนแสงหรือตามแสงดี?
เวลาออกไปถ่ายภาพวิว มักจะมีคำถามโลกแตกในใจเสมอว่าเราต้องถ่ายมุมนี้คู่กับแสงแบบไหน จะเลือกแบบตามแสง หรือย้อนแสงดี เลือกถ่ายแสงเช้าหรือแสงเย็นดี แสงแต่ละแบบมีความน่าสนใจ และจุดเด่นแตกต่างกัน ในบทความนี้เรามีคำตอบให้
เลือกทิศทางแสงอย่างไรให้เข้ากับภาพ หลักๆแล้วการถ่ายภาพวิว landscape นั้นมีมากกว่าการถ่ายภาพย้อนแสงและตามแสง ถ้าจัดกลุ่มก็จะมีการเลือกแสงคร่าวๆ อยู่ 5 แบบคือ
ถ่ายตามแสง (front lighting)
ถ่ายย้อนแสง (back lighting)
ถ่ายแสงด้านข้าง (side lighting)
ถ่ายภาพแสงตอนกลางวัน (midday หรือ top lighting)
ถ่ายในวันไม่มีแสง (overcast)
เลือกยังไง มาติดตามกันเลย
อยากรู้ว่า แฟนเพจของเรา ชอบถ่ายแสงเช้าหรือแสงเย็นมากกว่ากัน คอมเมนท์มากบอกกันได้นะครับอย่าลืมกดติดตาม และแชร์ content เพื่อเป็นกำลังใจให้เราด้วยนะครับ
ถ่ายตามแสง (front lighting)
การถ่ายตามแสงเรียกได้ว่าเป็นการถ่ายที่ง่ายที่สุด ได้ภาพดีตามมาตรฐาน ถ้าเลือกทิศทางตามแสงในช่วงแสงสวยๆอย่างเช้าหรือเย็น นี้ย่อมได้ภาพที่สวยแน่นอน เช่น ถ่ายภาพภูเขาที่ได้แสงทองแรกฉาบบนยอดเขา
จุ̲̲ด̲เ̲ด่̲̲น̲
● ในจังหวะแสงฉาบแรก หรือแสงสุดท้าย Subject ของเราจะรับแสงสวยๆที่สุดของวันไปแบบเต็ม ทำให้เพิ่มความสวยขึ้นไปอีก ฉากหน้าสว่าง และยังตัดกับท้องฟ้าอีกด้วย
● จังหวะก่อนพระอาทิตย์ขึ้น หรือหลังพระอาทิตย์ตกไปแล้ว เราสามารถถ่าย alpenglow หรือแสงที่เป็นแสงเรื่อๆสีชมพู สีม่วงอยู่บนท้องฟ้า เพิ่มความน่าสนใจได้อีก
ค̲ว̲า̲ม̲ท้̲̲า̲ท̲า̲ย̲
● ฉากหน้าและฉากหลังอาจมีความสว่างที่แตกต่างกัน เช่น แดดฉาบบนยอดเขาแล้ว แต่พุ่มไม้บนฉากหน้ายังไม่โดนแดด ทำให้การวัดแสงยากขึ้น หรือต้องถ่ายคร่อมเพื่อเก็บแสงได้หมด
● โอกาสที่จะได้ฟ้าสวยๆ ฟ้าระเบิดมีน้อย เพราะฟ้าสวยๆจะระเบิดเป็นเวลานานอยู่ในทิศทางเดียวกับพระอาทิตย์เสียเป็นส่วนใหญ่
ถ่ายย้อนแสง (back lighting)
แนวการถ่ายภาพ landscape ช่วงหลังๆ ช่างภาพต่างประเทศจะชอบใช้การถ่ายย้อนแสงกันมาก เพราะเพิ่มลูกเล่นให้กับภาพได้อย่างมากมาย โดยเฉพาะเพิ่มแฉก หรือ sunstar นั่นเอง และการได้ rim light โดยรวมแล้วการถ่ายภาพย้อนแสง เราจะได้ภาพที่ contrast หนัก เพราะมีความต่างแสงค่อนข้างมาก
จุ̲̲ด̲เ̲ด่̲̲น̲
● มีลูกเล่นของแสง มีโทนหลากหลาย ตั้งแต่ความสว่างสุดบนท้องฟ้า ตัววัตถุย้อนแสงมืดกว่า ความสนุกของการถ่ายคือถ่ายอย่างไรให้ฉากหน้ามืดกำลังดี แต่ไม่มืดจมจนเกินไป
● ถ้ามีเมฆสวยๆมีโอกาสได้ฟ้าระเบิดในภาพสูง ทำให้ภาพเรา epic ขึ้นไปอีกระดับนึงเลยทีเดียว
● มีโอกาสได้ rim light ถ้าวัตถุที่เราถ่ายมีการสะท้อนแสงรอบๆได้ เพิ่มความน่าสนใจให้กับภาพขึ้นไปอีกขั้น
● ได้แฉกสวยๆ พอได้รู้ว่าจะถ่ายภาพย้อนแสง เราเตรียมเลือกเลนส์ที่แฉกสวยๆไปได้เลยครับ อย่างผมเองก็จะมี Nikon AF-S 20mm f/1.8 คู่ใจ
ค̲ว̲า̲ม̲ท้̲̲า̲ท̲า̲ย̲
● เนื่องจากความเปรียบต่างแสงในภาพสูงมาก ท้องฟ้าจะสว่างกว่าฉากหน้ามากๆ อาจต้องถ่ายคร่อม หรือใช้ graduated filter เพื่อเก็บแสงในภาพให้ครบ ยิ่งมีพระอาทิตย์อยู่ในเฟรม อาจจะต้องถ่ายคร่อมมากขึ้นไปอีก เพิ่มความเหนื่อยตอนแต่งภาพ แต่ผลลัพธ์ที่ได้คุ้มค่ามากๆ
● ต้องระวัง flare ให้ดี เพราะถ้าหน้าเลนส์ไม่สะอาด หรือฟิลเตอร์สกปรกจากฝุ่นเม็ดเล็กๆ หรือฟิลเตอร์มีรอย โอกาสเกิด flare ง่ายมาก และลบออกยากเสียด้วย ดังนั้นต้องดูแลอุปกรณ์เราให้ดีๆเลย ส่วนใหญ่ถ้าถ่ายย้อนแสงผมจะถอดเอาฟิลเตอร์ออกให้หมด
● มีอีกทริกนึงคือใช้นิ้วบังพระอาทิตย์ไว้ แล้วถ่ายสองใบ ใบนึงไม่บังและมีแฟลร์ อีกใบใช้นิ้วบังเพื่อลด flare แล้วค่อยลบนิ้วออกตอนแต่งภาพ
ถ่ายแสงด้านข้าง (side lighting)
การถ่ายภาพแสงข้างนั้นก็เป็นอีกตัวเลือกนึงที่นิยมมากๆ เพราะเหมือนเป็นกึ่งกลางระหว่างการถ่ายภาพตามแสง และการถ่ายภาพย้อนแสง คือได้ทั้งแสงฉาบที่ subject ของเรา และยังได้คอนทราสต์ ได้มิติอีกด้วย
.
จุ̲̲ด̲เ̲ด่̲̲น̲
● มีมิติของแสงที่เด่นชัดมาก เพราะแสงเข้าจากด้านข้าง ก่อให้เกิดเงา ทำให้เห็นรูปทรงของ subject และรายละเอียดที่ชัดเจน มี contrast
● แสงค่อนข้างคงที่ วัดแสงไม่ยากนัก และในหลายสถานการณ์จะได้แสงฉาบที่ subject ทำให้มีความสว่าง และโดดเด่นขึ้น
● มีโอกาสได้ฟ้าสวยมากกว่าการถ่ายภาพตามแสง แต่น้อยกว่าการถ่ายภาพย้อนแสงอยู่บ้าง
.
ค̲ว̲า̲ม̲ท้̲̲า̲ท̲า̲ย̲
● แสงที่มาจากด้านข้างอาจทำให้เกิด flare ได้บ้าง ควรสวมฮูดที่หน้าเลนส์
ถ่ายภาพแสงตอนกลางวัน (midday หรือ top lighting)
หรือว่ากันง่ายๆคือแสงเที่ยง แสงแบบนี้เป็นแสงที่ช่างภาพ landscape ไม่ชอบมากที่สุด เพราะถ่ายยากมาก แสงจะแข็งมาก ถ่ายออกมาภาพจะดูไม่สวย หรือจะปั้นให้สวยได้ยากมาก โดยมากแล้วถ้าเป็นไปได้ก็เลี่ยงแสงเที่ยงแข็งๆแบบนี้ไว้ก่อนเลย เรียกได้ว่าไม่ค่อยมีจุดเด่น มีแต่ความท้าทายในการถ่ายแสง midday ให้สวย
.
แสงแบบนี้อาจมีข้อดีอยู่บ้าง มีประโยชน์กับการถ่ายในลักษณะที่มีการสะท้อนของแสง เช่น ถ่ายตัวแบบในภาพวิว โดยที่มีพื้นหรือฉากหน้าที่เป็นโทนสว่าง เช่น หาดทราย ทำให้สะท้อนแสง top lighting ไปที่ตัวแบบได้ เหมือนมี reflector อันใหญ่ๆอยู่ที่พื้น หรือถ้าเกิดมีหมอกควัน หรือละอองน้ำ ก็อาจจะมีลำแสงสวยๆได้
.
หรืออีกตัวอย่างนึงคือการถ่ายใน slot canyon ที่จะถ่ายให้สวยต้องมีแสงสะท้อน หรือ reflected light โดยใช้แสง midday ที่มีองศาเฉียงหน่อยๆ เช่น ถ่ายช่วงก่อนเที่ยง หรือช่วงบ่าย เพื่อให้มีการสะท้อนทำมุมกับผนังหิน เราจะพบได้บ่อยกับภาพ slot canyon ของฝรั่ง ที่เห็นว่ามีผนังเรืองแสงสีส้มทองๆ
ถ่ายในวันไม่มีแสง (overcast)
มากรณีสุดท้าย ในวันที่เมฆครึ้ม แสงจะนุ่ม แม้ว่าเป็นวันที่ถ่ายภาพได้ไม่มีมิติ แต่แสงแบบนี้ก็มีประโยชน์ในบางกรณี เช่น ถ่ายภาพในป่า หรือถ่ายภาพน้ำตก เพราะจะได้แสงที่นุ่มนวล ไม่หยาบ ทำให้ภาพน้ำตกเราสวยขึ้นได้ หรือในอีกกรณีที่จะได้ใช้คือการถ่ายภาพเมฆไหล
.
จุ̲̲ด̲เ̲ด่̲̲น̲
● เหมาะสำหรับถ่ายภาพน้ำตกที่สุด ถ้าวันไหนฟ้าครึ้มก็เตรียมเลือกถ่ายน้ำตกได้เลย ข้อดีอีกอย่างคือในวันที่เมฆเยอะๆแบบนี้ จะช่วยกรองแสงไปในตัว ทำให้เราสามารถลากสปีดชัตเตอร์นานได้พอ โดยไม่ต้องพึ่ง ND filter เลย และบรรยากาศป่าไม้ก็ถ่ายได้เหมือนกัน
● ถ้าเมฆมีทรงสวยๆ (ไม่ได้เป็นฟ้าเทา หรือหมอกทึบ) ก็สามารถใช้เมฆสร้างลวดลายเติมเต็มให้กับท้องฟ้าของเราได้
● ลองสังเกตดูว่าถ้าเมฆมีลวดลาย และมีลมหรือไม่ เมฆไหลเร็วเพียงใด ถ้าวันนั้นเมฆไหล เราสามารถใส่ ND filter แล้วลากสปีดสัก 5-10 นาทีเพื่อให้ได้ effect ของเมฆไหล filter ตัวที่ใช้บ่อยคือ 10-stop ND
● แสงแบบนี้ง่ายสำหรับการถ่ายภาพ portrait เพราะหน้าของตัวแบบจะไม่เป็นเงามากนัก
เรามีภาพแถมให้ ซึ่งเป็นแสงที่เพิ่มความซับซ้อนและน่าสนใจขึ้นไปอีก
“รู้ได้อย่างไรว่าต้องถ่ายแสงเช้าหรือเย็น”
เมื่อเราทำการบ้านมาแล้วว่าอยากได้ภาพแบบใด รู้มุม รู้จุดที่ต้องไปยืน รู้ว่าเป็นทิศทางแสงแบบใด เราก็สามารถตอบได้ว่า ควรถ่ายภาพช่วงพระอาทิตย์ขึ้น หรือพระอาทิตย์ตก (หรือแสงอื่นๆ)
ตัวอย่างเช่น ถ้าวางแผนมาแล้วว่าอยากถ่ายภาพย้อนแสง และจากแผนที่พบว่ามุมนี้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก นั่นแปลว่าจะต้องมาถ่ายภาพช่วงพระอาทิตย์ขึ้น ดวงอาทิตย์จึงจะอยู่ในเฟรม และได้ภาพย้อนแสงพอดี หรือถ้าอยากได้การถ่ายแสงจากด้านข้าง ทางด้านซ้ายของภาพ และตัวมุมที่ถ่ายภาพหันหน้าทางทิศเหนือ ในกรณีนี้จะต้องถ่ายช่วงพระอาทิตย์ตก จึงจะได้แสงเข้ามาทางด้านซ้ายของภาพพอดี (เช่นภาพนี้ เป็นต้น)
ทั้งนี้ ทิศทางของพระอาทิตย์ขึ้นและตก อาจเฉียงออกจากแนวตะวันออก-ตะวันตกได้ ขึ้นอยู่กับฤดูกาล และละติจูด อย่างประเทศไทยอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงขององศาเฉียงไปไม่มาก แต่ถ้าเป็นประเทศที่ใกล้ขั้วโลกขึ้นไปอีก เช่น นอร์เวย์ หรือนิวซีแลนด์ จะมีการแกว่งขององศาพระอาทิตย์ในแต่ละฤดูกาลค่อนข้างมาก ดังนั้นเพื่อการวางแผนที่ดี เราแนะนำให้ใช้แอพ The Photographer’s Ephemeris หรือ TPE โดยแอพนี้จะช่วยบอกองศาและทิศทางของพระอาทิตย์ และแอพนี้สามารถบอกทิศทางของพระจันทร์และทางช้างเผือกได้อีกด้วย
ภาพนี้เป็นภาพที่ถ่ายช่วงปลายเดือนกันยา ดังนั้นพระอาทิตย์จะค่อนข้างขึ้นใกล้กับแนวตะวันออกและตะวันตกพอดี การได้แสงฉาบภูเขาหรือไม่ จึงต้องดูการวางตัวของแนวภูเขา และทิศทางแสงตอนเช้าหรือเย็น
แนะนำแอพ TPE ครับ ดีจริงๆ เป็นแอพที่ช่างภาพสายแลนด์สเคปต้องมีเลย
บ̲ท̲ส̲รุ̲̲ป̲
แสงมีความสำคัญต่อการถ่ายภาพอย่างแยกจากกันไม่ได้ และแสงที่ต่างกันย่อมให้อารมณ์ภาพที่ต่างกัน ดังนั้นการเลือกทิศทางแสงในการถ่ายภาพจึงมีความสำคัญมากๆ แต่อย่าลืมว่า การถ่ายภาพที่จุดๆนึง เราไม่จำเป็นต้องยึดติดว่าจะถ่ายแค่มุมเดียว ด้านเดียว เราสามารถมองไปรอบตัว เพื่อเก็บแสงที่อาจจะสวยในมุมหรือทิศทางอื่นๆได้ เช่น หากเรารอถ่ายภาพจากจุดที่ถ่ายตามแสง ถ้าเราหามุมที่อยู่ด้านตรงข้าม (ด้านหลัง) ก็อาจจะเก็บแสงสวยๆได้ทั้งสองแบบเลย ซึ่งโดยมากแล้ว มุมที่เป็นการถ่ายย้อนแสง จะถึงจังหวะแสงสวยคนละช่วงเวลากับมุมที่ถ่ายตามแสง
เช่น แสงเช้า จะสามารถถ่ายมุมย้อนแสงแบบที่มีฟ้าระเบิด มีสีบนก้อนเมฆ ได้ก่อนมุมตามแสงเล็กน้อย และหลังจากพอถ่ายจังหวะแสงดีของมุมตามแสงได้เสร็จแล้วนั้น เมื่อแสงแดดฉาบลงมาด้านล่างมากพอก็สามาถถ่ายย้อนแสงเพื่อเก็บแฉกได้อีกครั้ง ส่วนการถ่ายพระอาทิตย์ตกก็จะเป็นในทางกลับกัน แต่ทั้งนี้ ลำดับอาจเปลี่ยนได้ขึ้นกับความสูงของตำแหน่งที่ยืนถ่ายภาพ และความสูงของ subject เช่น ภูเขา และความสูงของปลายขอบฟ้าด้านพระอาทิตย์