Behind the Edits – Lightning

วันนี้มีเบื้องหลัง “การถ่าย และทำไฟล์” มาบอกเล่าครับ ภาพที่เห็นนี้ถ่ายจากทะเลทรายที่ราบสูงในรัฐ Utah ในบริเวณนี้มีแลนด์สเคปแปลกตาราวกับว่าเราอยู่ดาวดวงอื่นเลย โดยตอนนั้นมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นบริเวณแนวเขาที่มีความชุ่มชื้นมากกว่า ห่างออกไปไม่น้อยกว่า 50 กิโลเมตร

โดยปกติแล้วในภูมิประเทศทะเลทรายทางตะวันตกเฉียงใต้ของอเมริกา ช่วงเช้าของฤดูร้อนท้องฟ้าจะมีเมฆน้อยหรือไร้เมฆ แต่เมฆฝนจะเริ่มก่อตัวในช่วงบ่าย และเกิดฝนตกในตอนเย็นไปจนถึงกลางคืนที่บริเวณยอดเขาสูงและชายเขา จะแตกต่างจากบ้านเราที่มีความชื้นสูง เวลาเกิดเมฆฝนก็จะกินบริเวณกว้าง ในเขตทะเลทรายหากสามารถหาโลเคชั่นที่มองไปยังแนวเขาสูงได้ในระยะไกล ก็มีโอกาสที่จะบันทึกภาพเมฆฝนและฟ้าแลบได้ในคราวเดียวกัน

เนื่องจากการเกิดฟ้าแลบนั้นจะสังเกตเห็นได้ชัดก็ต่อเมื่อท้องฟ้าเริ่มมืดลง ดังนั้นการถ่ายภาพต้องลากยาวคาบเกี่ยวช่วงเวลาหลังจากอาทิตย์ตกดินไปแล้วสักระยะหนึ่ง ครั้งนี้เราถ่ายภาพต่อเนื่องมาไม่ต่ำกว่า 400 ภาพ แต่มีฟ้าแล่บติดเข้ามาในเฟรมภาพเพียงไม่ถึง 10 ใบ

Setting ที่ใช้คือ

– ISO 64-200 ต้องปรับเพิ่มขึ้นเมื่อฟ้ามืดลง
– ค่ารูรับแสง f 16 – 5.6 ปรับรูรับแสงกว้างขึ้นเมื่อแสงน้อยลง
– Speed shutter รักษาไว้ที่ 4-6 วินาที

หลังจากคัดเลือกภาพใบที่มีเส้นฟ้าผ่าแล้ว ก็ต้องนำภาพมารวมกันในโปรแกรม Photoshop แต่ราต้องปรับจูนความสว่างในแต่ละภาพให้ใกล้เคียงกันเสียก่อน เนื่องจากภาพที่ได้มานั้นบางครั้งถ่ายห่างกันหลายนาที และมีความแตกต่างของค่าแสง เวลาที่เบลนด์ภาพเข้าด้วยกันจะได้ไม่เกิดรอยต่อ

การนำเส้นฟ้าผ่ามาซ้อนใน Photoshop ก็แค่เปลี่ยน Blending mode ของ layer ให้เป็นแบบ “Lighten” โปรแกรมก็จะรวมส่วนที่มีเส้นฟ้าผ่าเข้ามาให้เรา ถ้าภาพไหนท้องฟ้ายังมีความสว่างอยู่เยอะ ก็ต้องใช้ Layer mask ซ้อนทับอีกชั้น เพื่อเปิดการแสดงผลแค่ในบริเวณที่มีเส้นฟ้าผ่า

และเมื่อปรับแต่งอีกเล็กน้อยเราก็จะได้ภาพสมบูรณ์

คำเตือนการถ่ายภาพพายุฝน ฟ้าแลบ ฟ้าผ่า ขอให้คำนึงถึงความปลอดภัยด้วยครับ ไม่แนะนำสำหรับผู้ที่ไม่มีความรู้ในการดูพยากรณ์อากาศ ฟ้าผ่าสามารถทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้