ถ่ายอย่างไรให้เนียน พร้อมแนะนำการต่อภาพให้สวย
ภาพพาโนรามา ถ้าจะนิยามคร่าวๆแบบง่ายๆ ก็คือเป็นการถ่ายภาพในลักษณะสัดส่วนกว้างเป็นพิเศษ เพื่อให้เห็นมุมมองที่ให้ความรู้สึกกว้างมากๆ หรือเก็บ subject ในมุมมองที่เราต้องการในพื้นที่จำกัดได้ ภาพพาโนรามาหลายๆภาพมีด้านยาว ยาวกว่าด้านกว้างพอสมควร โดยมากจะประมาณ 2 เท่าขึ้นไป (อัตราส่วน 2:1) แต่ก็ไม่มีหลักตายตัวอะไร
แนวทางการถ่ายภาพและทำภาพพาโนรามา
- Reframing หรือจัดเฟรมภาพใหม่ พูดง่ายๆก็คือการถ่ายภาพเฟรมเดียวด้วยเลนส์มุมกว้างหน่อย แล้ว crop ภาพออกให้ดูเหมือนเป็นภาพพาโนรามา เหมือนถ่ายมาหลายใบกว้างๆ แต่จริงๆแล้วเป็นภาพเฟรมเดียว
- Stitching การถ่ายภาพหลายๆใบแล้วนำมาต่อกันด้วยโปรแกรม โดยคำว่า stitch ก็คือนำมาเย็บให้ติดกัน หรือการนำภาพมาต่อกันนั่นเอง รายละเอียดทั้งการถ่ายและการต่อภาพค่อนข้างเยอะ จะขอลงรายละเอียดในภาพต่อๆไป
- Extreme Wide Angle การถ่ายภาพเลนส์มุมกว้างหลายๆใบ แล้วนำมาต่อกันอีกที เพื่อให้ได้มุมกว้างสุดๆ จริงๆพาโนลักษณะนี้จะเรียกว่าเป็นแบบนึงของ Stitching ก็ว่าได้ แต่พอต่อภาพแล้ว ช่างภาพมักจะปรับให้เหลือสัดส่วนเหมือนภาพปกติ เช่น ที่อัตราส่วน 3:2 ทั่วไป เพื่อให้ดูเหมือนถ่ายด้วยเฟรมเดียว แต่จริงๆแล้วเป็นภาพที่ถ่ายพาโนมาอีกทีนึง
- Smartphone สมัยนี้มือถือมีโหมดถ่ายพาโนรามาแทบทุกเครื่อง และการถ่ายก็ง่ายมากๆด้วย เพียงแค่หมุนมือถือจากด้านนึงไปอีกด้านนึง และโปรแกรมก็จะจัดการต่อให้เสร็จ แต่คุณภาพของการถ่าย และการต่อภาพก็จะสู้การถ่ายจากกล้องใหญ่ไม่ได้
นอกเหนือจากนี้ก็เป็นกลุ่มกล้องที่ถ่ายภาพ 360 องศาซึ่งปัจจุบันมีกล้อง 360 ในตลาดอยู่หลายเจ้าทีเดียว ความสามารถก็เด็ดๆทั้งนั้น สามารถถ่ายภาพ หรือวีดีโอ ในลักษณะรอบตัวได้ในการกดถ่ายเพียงครั้งเดียว และโปรแกรมในกล้องก็รวมภาพให้ในตัวเลย
รายละเอียดของการถ่ายพาโนแต่ละแบบในภาพถัดๆไป พร้อมตัวอย่างการถ่ายให้ดูเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น
อุปกรณ์ที่ต้องใช้
- กล้องและเลนส์ สามารถใช้กล้องที่เรามีอยู่ และเลนส์ช่วงใดก็สามารถถ่ายภาพพาโนรามาได้ทั้งนั้น ถ้าเป็นเลนส์ซูมมุมกว้าง ก็จะมีความยืดหยุ่นในการถ่ายมากหน่อย แต่ก็จะแลกมาด้วย distortion และถ้าเป็นช่วงเลนส์ซูมมากๆอย่างเลนส์เทเล ก็จะถ่ายมุมมองไม่ได้กว้างมากนัก
- ขาตั้ง แนะนำให้ใช้ เพราะจะทำให้เราควบคุมการหมุนได้ง่ายยิ่งขึ้น และถ้ามีหัวรูปตัว L ที่ใช้สำหรับถ่ายพาโนรามาโดยเฉพาะ จะทำให้ภาพสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพราะทำให้เราควบคุมจุดหมุน หรือ nodal point ได้ ทำให้ลดการเกิด parallax effect ได้ดี แต่สำหรับมือใหม่เราไม่แนะนำ เพราะใช้งานค่อนข้างยาก
- ฟิลเตอร์ ไม่แนะนำให้ใช้ โดยเฉพาะ polarizer ไม่ควรใส่เลย เพราะการหันกล้องไปแต่ละทิศทาง จะมีการตัดแสงไม่เท่ากัน ทำให้ภาพที่ถ่ายออกมามีความสว่างของท้องฟ้าไม่เท่ากัน และต่อด้วยโปรแกรมยากมาก ไม่เนียน
หากมีคำถาม แชร์ประสบการณ์ถ่ายภาพพาโนรามา หรืออยากแบ่งปันภาพที่ถ่ายมา สามารถแชร์กันในคอมเมนท์ได้เลย ฝากช่วยกันแชร์โพสนี้ แบ่งปันความรู้ดีๆให้ทุกคนด้วยนะครับ
แนวทางการถ่ายภาพพาโนรามาแบบต่างๆ
Reframing
สำหรับแบบแรก การจัดเฟรมภาพใหม่ ซึ่งคือการ crop ภาพที่ถ่ายมาเพียงเฟรมเดียว ให้มีสัดส่วนดูเป็นแบบพาโนรามา เช่น ตอนถ่ายใช้กล้อง DSLR ทั่วไป อาจจะใช้เลนส์มุมกว้าง ถ่ายด้วยสัดส่วนภาพ 3:2 และทำการ crop ให้เป็น 2:1 เป็นต้น การใช้งานลักษณะนี้แม้ว่าจะไม่ได้เป็นการถ่ายพาโนรามาแบบใช้หลายภาพมาต่อกัน แต่ก็ไม่ได้เป็นแนวทางที่ผิดแต่อย่างใด อาจจะมีประโยชน์ในหลายกรณี เช่น ด้านบนของภาพโล่งเกินไป หรือมีส่วนที่รกสายตาเกินไป การ crop เป็นภาพพาโนรามา ทำให้องค์ประกอบของภาพดีขึ้น ภาพที่เดิมอาจไม่สวยในสัดส่วนปกติ ก็ดูดียิ่งขึ้นเมื่อ reframe เป็นแบบพาโนรามาได้
แต่การ reframing ก็มีข้อเสีย เพราะเมื่อเรา crop ภาพไป ขนาดของภาพก็จะเล็กตามไปด้วย เหมือนเป็นการสูญเสียเนื้อที่ภาพไป ดังนั้นจึงไม่เหมาะกับการนำไป print ขนาดใหญ่
Stitching
คือการถ่ายภาพมาหลายใบ โดยเก็บมุมมองต่างกัน แล้วนำมาต่อกันในโปรแกรม โดยการถ่ายวิธีนี้ทำให้เราเก็บวัตถุดิบหรือจำนวนพิกเซลมาได้มาก ตัวอย่างการถ่ายแบบง่ายๆคือการแพนกล้องจากซ้ายไปขวา (หรือขวามาซ้ายก็ได้ แล้วแต่ถนัด) และกดถ่ายแต่ละเฟรมไปเรื่อยๆ โดยให้มีเนื้อที่คร่อมระหว่างเฟรมภาพอย่างน้อย 30% เพื่อให้เวลาต่อภาพในโปรแกรม โปรแกรมสามารถวิเคราะห์ได้ว่าบริเวณใดของภาพที่เป็นบริเวณเดียวกัน และนำมาเรียงต่อกันได้ หากถ่ายมาคร่อมน้อยเกินไปก็อาจทำให้การต่อภาพไม่สมบูรณ์ได้
อย่างที่เกริ่นไปว่า เราสามารถถ่ายภาพด้วยเลนส์ช่วงใดก็ได้ โดยที่เลนส์ซูมไกลๆ เช่น ช่วงเทเล หรือช่วง normal ปลายๆ จะมี distortion ไม่มาก สามารถใช้การถ่ายให้คร่อม 30% ได้ไม่มีปัญหา แต่ในขณะที่เลนส์มุมกว้าง จะมี distortion มาก ยิ่งเป็นเลนส์กว้างสุดๆอย่าง 12mm จะต้องถ่ายให้คร่อมมากถึง 70% เพื่อให้โปรแกรมมีเนื้อส่วนที่คร่อมระหว่างภาพที่ให้นำไปคำนวณได้มากพอ
การถ่ายภาพพาโนรามาให้ได้จำนวนพิกเซลเยอะๆ พอต่อภาพแล้วจะได้ไฟล์ใหญ่ ถ้าถ่ายพาโนรามาแนวนอน (แพนจากซ้ายไปขวาหรือกลับกัน) ให้ถ่ายภาพแนวตั้ง แต่ถ้าถ่ายภาพพาโนรามาแนวตั้ง (แพนจากบนลงล่าง) ให้ถ่ายภาพแนวนอน แม้ว่าจะต้องถ่ายถี่กว่าปกติ แต่เราจะได้ขนาดไฟล์ใหญ่กว่า สามารถนำไปต่อยอดได้มากกว่า
หากยิ่งใช้เลนส์มุมกว้าง จะทำให้สามารถเก็บความโค้งของวัตถุได้ เช่น ทางช้างเผือกที่พาดผ่านท้องฟ้า แต่ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ช่วงซูมที่กว้างที่สุด เพราะอาจจะมี distortion เยอะเกินไปจนต่อภาพได้ลำบาก อย่างภาพทางช้างเผือกในตัวอย่างนี้ใช้ที่ 17mm
การตั้งค่ากล้องเพื่อถ่ายภาพพาโนรามาเพื่อนำมาต่อในคอม (stitching)
- ใช้โหมด M เพื่อคุมให้แสงในแต่ละเฟรมที่ถ่ายเท่ากันทุกเฟรม และใช้ White Balance คงที่ เช่น daylight อย่างเดียว หรือเลือกกำหนด Kelvin ไปเลย ไม่ควรเลือก Auto WB เพราะแต่ละส่วนในการแพนภาพ อาจมีโทนต่างกัน
- วัดแสงให้แม่นยำ เพราะบริเวณต่างๆในภาพที่แพนไป อาจมีบริเวณที่สว่างมาก เช่น ดวงอาทิตย์ หรือส่วนในเงามืด จึงต้องคำนวณความต่างแสงให้ดี และเลือกใช้การชดเชยแสงให้เหมาะสม เพื่อเก็บค่าแสงได้ครบถ้วน หากไม่สามารถเก็บค่าแสงครบได้ใน setting เดียว อาจต้องถ่ายคร่อมแสง (HDR bracketing) และนำไปรวมด้วยโปรแกรมอีกที ซึ่งโปรแกรมอย่าง Adobe ก็มีตัวช่วยในส่วนนี้อยู่แล้ว
- ใช้ขาตั้งกล้อง เพื่อให้การแพนกล้องทำได้คงที่ที่สุด แต่หากชำนาญแล้ว และไม่ซีเรียสเรื่อง parallax effect สามารถถือถ่ายด้วยมือได้ ซึ่ง parallax effect จะมีผลมากถ้าเรามีวัตถุที่อยู่ใกล้กับตัวกล้อง เช่น ต้นไม้ ดอกไม้ แต่ถ้าเกิดเป็นการเก็บภาพมุมกว้างที่วัตถุในภาพอยู่ไกลเกิน 20 เมตร หรือไกลเกือบระยะอนันต์ (infinity) ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่อง parallax effect แต่อย่างใด แต่ถ้าถ่ายภาพพาโนรามาภายในห้อง หรือภายในอาคาร จะต้องวางแผนเป็นอย่างดี คำนึงเรื่อง nodal point และใช้หัวถ่ายภาพพาโน
- หากวัตถุต่างๆที่ต้องการถ่ายภาพ อยู่ในระนาบโฟกัสเดียวกันหมด เช่น ระยะอนันต์เหมือนกันหมด เพื่อความรวดเร็วในการถ่ายภาพ แนะนำให้โฟกัสด้วยโหมดออโต้โฟกัสไว้ก่อน แล้วเปลี่ยนเป็น manual focus เพื่อสามารถกดแต่ละเฟรมได้อย่างรวดเร็ว
- ห้ามใช้ฟิลเตอร์ใดๆ โดยเฉพาะ circular polarizer เพราะจะทำให้สีและความสว่างของท้องฟ้าไม่เท่ากันในแต่ละเฟรม ส่วน graduate filter สามารถใช้ได้บ้าง แต่ไม่แนะนำ เพราะหากเราแพนกล้องได้ไม่นิ่ง หรือแนวกล้องไม่ตรงพอดี ภาพที่ได้อาจมีการลดปริมาณแสงในบริเวณที่ไม่ต้องการได้
- พยายามถ่ายให้เร็ว แต่ไม่ลนลาน ถ่ายให้รอบคอบ เพราะว่าบางครั้งวัตถุบนท้องฟ้าอาจเปลี่ยนตำแหน่งไป ถ้าเราถ่ายช้าเกินไป เช่น เมฆ หรือทางช้างเผือก
ภาพนี้เป็นตัวอย่างของการถ่ายพาโนรามาแบบ stitching ด้วยเลนส์มุมกว้างที่ 17mm เพื่อเก็บทางช้างเผือก
Extreme Wide
เป็นการถ่ายภาพพาโนรามาอีกแบบที่คล้ายกับแบบ Stitching แต่ให้ผลลัพธ์ที่ไม่ค่อยยาวๆเหมือนพาโนรามาสักเท่าไหร่ เพราะการใช้เลนส์มุมกว้างมากๆ และถ่ายมาต่อกัน ผลลัพธ์สุดท้ายจะคล้ายกับการถ่ายด้วยเฟรมเดียว มุมกว้างมากๆ เก็บได้ทุกอย่างครบ แต่จริงๆแล้วมาจากหลายๆเฟรมรวมกัน
การถ่ายภาพนั้นจะคล้ายกับแบบ Stitching และการต่อภาพก็เหมือนกัน กล่าวคือ ต้องถ่ายโหมด M, โฟกัสให้เป๊ะ, ใช้ขาตั้ง ถ้าเป็นไปได้ให้ใช้หัวพาโน, และไม่ใส่ฟิลเตอร์
จุดที่แตกต่างคือ แต่ละภาพที่ถ่าย ควรถ่ายให้คร่อมกันให้ได้มากที่สุด อย่างน้อยควรมีเนื้อที่คร่อมกัน 70% ขึ้นไป เพื่อให้โปรแกรมสามารถนำไปคำนวณต่อได้ ยิ่งใช้เลนส์มุมกว้างมากเท่าไหร่ หรือตัวเลนส์มี distortion มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งควรถ่ายให้คร่อมมากเท่านั้น ดังนั้นจำนวนภาพที่ถ่ายออกมาจะเยอะเป็นพิเศษ
การต่อภาพพาโนรามา
ในตลาดของโปรแกรมต่อภาพพาโนรามา มีตัวเลือกหลากหลายมาก แต่โปรแกรมที่นิยมและใช้บ่อยจริงๆจะมีไม่กี่ตัว เราขอแนะนำสองตัวคือ Adobe software ที่มีตัวช่วยต่อภาพพาโนรามาอยู่ในทั้ง Camera Raw, Photoshop, และ Lightroom ซึ่งทั้งสามโปรแกรมใช้ core engine ที่คล้ายกัน และปัจจุบันการเครื่องมือต่อภาพของ Adobe พัฒนาไปมาก มีฟีเจอร์หลายอย่างที่นำมาจาก Photoshop เช่น การเติมส่วนที่ว่างของภาพด้วย Content Aware
ส่วนโปรแกรมอีกตัวที่แนะนำคือ PTGui ซึ่งตัวนี้จะเรียกว่าเป็นโปรแกรมระดับ expert ก็ว่าได้ สามารถต่อภาพได้เนียนสุดๆ สามารถจัดการกับพาโนรามาที่ยากๆได้ และต่อภาพพาโนรามาหลากหลายรูปแบบได้ แต่ข้อเสียคือใช้งานยาก สำหรับมือใหม่ ช่างภาพทั่วๆไปที่ไม่ได้ซีเรียสกับความสมบูรณ์แบบ เราขอแนะนำให้ใช้ Adobe มากกว่า
การต่อภาพพาโนรามาด้วย Adobe Software
สำหรับ tutorial นี้เราจะใช้ Camera Raw เป็นหลัก ซึ่งปกติเวลาเราเปิด Raw file เข้า Photoshop ก็จะต้องมาเริ่มต้นที่ Camera Raw ก่อน สำหรับการใช้ Lightroom จะมีการทำงานที่คล้ายกับ Camera Raw
ข้อดีของการต่อภาพด้วย Camera Raw หรือ Lightroom คือไฟล์ที่ได้จะเป็น DNG ซึ่งยังคงความสามารถของ Raw Files อยู่ สามารถปรับ White Balance หรือค่าต่างๆได้เหมือนทำงานบน Raw File เลย
ขั้นตอนแรก
เปิด Raw files โปรแกรม Photoshop จะเรียกหน้าต่าง Camera Raw ขึ้นมา เราสามารถปรับแต่งไฟล์ก่อนรวมพาโนรามา หรือรวมก่อนแล้วค่อยปรับทีหลังก็ได้ จากนั้นให้เลือกทุกภาพ แล้วคลิกขวา เลือก Merge to Panorama ถ้าเกิดมีภาพชุดที่ถ่ายเป็น HDR และ Panorama สามารถใช้โหมด Merge to HDR Panorama ได้
แต่ถ้าทำ focus stack ยังไม่มีตัวช่วยนะครับ
ขั้นที่สอง
หลังจากที่โหลดหน้าต่างการปรับแต่งภาพพาโนรามาแล้ว ซึ่งอาจจะใช้เวลาเร็วหรือช้า ขึ้นกับขนาดไฟล์ จำนวนภาพที่นำมารวม และความเร็วของคอมพิวเตอร์ โดยหน้าต่างนี้จะมีตัวเลือกสำหรับการต่อพาโนรามาเพิ่มเติมได้อีกหลายอย่าง เช่น
- Projection มีให้เลือกสามอย่างคือ Spherical, Cylindrical และ Perspective ซึ่งส่วนใหญ่เราจะใช้แค่ Spherical หรือ Cylindrical โดยตัวเลือกนี้จะเป็น algorithm ในการต่อพาโนรามารูปแบบต่างๆนั่นเอง ถ้าคิดตามง่ายๆ มันก็คือการจัดวางภาพบนผนังภายในอาคารที่เป็นทรงกลม เช่น โดมท้องฟ้าจำลอง ผนังมีความโค้ง รูปแบบนี้คือ Spherical ส่วนการต่อแบบ Cylindrical ตัวโปรแกรมจะคิดเสมือนการวางภาพลงด้านในผนังห้องที่เป็นทรงกระบอก ดังนั้น Projection จะต่างกัน
- Boundary Warp ฟีเจอร์นี้มีประโยชน์มากๆ เพราะเวลาถ่ายพาโน เราอาจจะถ่ายได้ไม่สมบูรณ์แบบ เราอาจจะถ่ายเอียงเล็กน้อย หรือเลนส์มีความโค้ง ทำให้พอต่อภาพแล้วจะยังมีพื้นที่ว่างรอบๆภาพอยู่ แทนที่จะ crop ภาพทิ้งไป และเสีย pixel ที่ถ่ายมา เราสามรถใช้ Boundary Warp เติมเต็มภาพได้ โดยโปรแกรมจะพยายามยืดและขยับภาพของเรา เพื่อเติมพื้นที่ว่างให้เต็ม แต่บางครั้งเราอาจจะไม่ต้องดัน Warp ให้เต็มที่ ถ้าดันเยอะ อาจจะรู้สึกถึงความยืด ตรงนี้ให้ปรับตามชอบ
- Fill Edge ฟังก์ชันนี้ก็เหมือนกับ Content Aware ใน Photoshop นั่นเอง โปรแกรมจะคิดให้เราว่าควรเอาเนื้อไฟล์อะไรมาเติมเต็มพื้นที่ว่าง ส่วนใหญ่เราจะแนะนำให้ใช้คู่กับ Boundary Warp กล่าวคือ ลองดัน Warp เพื่อเติมเต็มพื้นที่ว่างตามชอบ จนถึงจุดที่ภาพยังไม่ผิดสัดส่วนมากนัก แล้วพื้นที่ว่างเหลือเท่าไหร่ค่อยใช้ Fill Edge เติมให้เต็มทุกพื้นที่
- นอกจากนั้นก็จะเป็น Auto Setting กับ Auto Crop ซึ่งแล้วแต่คนจะชอบให้โปรแกรมปรับให้เราหรือไม่
กด Merge แล้วจิบกาแฟ รอสักพักก็จะได้ภาพพาโนรามาสวยๆแล้ว
ตัวอย่างภาพ panorama แบบต่างๆ
สำหรับการถ่ายภาพพาโนรามาด้วยมือถือ จะไม่กล่าวในโพสนี้ครับ เพราะใช้งานง่ายอยู่แล้ว แอพกล้องมือถือแต่ละค่ายอาจมีการทำงานแตกต่างไปบ้าง แต่โดยรวมใช้งานคล้ายๆกัน
จริงๆแล้วการถ่ายภาพพาโนรามายังแบ่งย่อยๆโดยใช้เกณฑ์อีกแบบ คือการมองว่าถ่ายแบบ cylindrical หรือ spherical ซึ่งถ้าจะว่ากันแบบเร็วๆ การถ่ายแบบ stitching ที่เราได้พูดถึงไป ไม่ว่าจะแพนกล้องจากซ้ายไปขวาครอบคลุมความกว้างเท่าไหร่ก็ตาม จะเป็นแบบ cylindrical ทั้งหมด ส่วนการถ่ายแบบ spherical จะเป็นการถ่ายที่ครอบคลุมทั้งแบบ 360 องศา ใช้งานบ่อยในงานสถาปัตยกรรม ให้เห็นภาพทั้งหมดรอบตัวในรูปแบบ VR เช่น เวลาโฆษณาห้องพัก หรือภายในอาคาร ซึ่งการถ่ายแบบนี้จะต้องระวังเรื่อง parallax เป็นอย่างมาก
หมดแล้วครับสำหรับ series การถ่ายภาพพาโนรามาของเรา ทิ้งท้ายด้วยภาพพาโนอีกใบที่ถ่ายหลายภาพมาต่อกันเพื่อเก็บความโค้งของรอยโคลนแตก (mud crack) และแน่นอนว่าใช้ focus stack เช่นเคย
สุดท้ายนี้ อยากให้ทุกๆคนลองเอา tutorial ของเราจากโพสนี้ไปลองใช้ดู สามารถประยุกต์การถ่ายภาพพาโนรามาได้หลายแบบเลย ขอให้สนุกกับการถ่ายภาพและต่อภาพพาโนรามา เก็บมุมกว้างกันให้แบบเต็มตา และถ้าชอบ content นี้ ฝากช่วยกันแชร์ ฝากเพจไว้ในอ้อมใจ ฝากติดตามคอนเทนต์ต่อไปด้วยนะครับ