Process ทางช้างเผือกให้ Pop ด้วยเทคนิคการลดดาว

วันนี้ขอนำเสนอเทคนิคปรับแต่งภาพที่ทำให้ใจกลางทางช้างเผือกโดดเด่นขึ้นกว่าเดิมด้วยการลดขนาดและปริมาณเม็ดดาว หากใครเคยมีประสบการณ์ถ่ายภาพทางช้างเผือกมาก่อน ก็จะพอนึกภาพออกว่าเวลาที่เราถ่ายภาพทางช้างเผือกนั้น ท้องฟ้าก็จะเต็มไปด้วยเม็ดดาวกระจัดกระจายเต็มไปหมด เม็ดดาวเหล่านั้นรบกวนสายตาของผู้ชมภาพ หากเราสามารถลดขนาดหรือปริมาณของดาวที่ไม่สำคัญในเฟรมภาพออกไปได้ ใจกลางทางช้างเผือกของเราก็จะเด่นขึ้นมาทันทีเลย

การลดดาวถูกนำมาใช้ในการปรับแต่งภาพ deep sky object นานแล้ว เพียงแต่เพิ่งมีการนำมาประยุกต์ใช้กับภาถ่ายแบบ wide field astrophotography ได้ไม่นานมานี้เอง เทคนิควิธีการทำก็มีการคิดค้นขึ้นมาอย่างหลากหลาย ตั้งแต่การใช้ Photoshop ในการปรับแต่ง มีการสร้าง action สำเร็จรูป ไปจนถึงใช้ software เสริม แต่ละเทคนิคก็มีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน การปรับแต่งก็ยังคงไม่มีสูตรตายตัว ขึ้นอยู่กับสภาพไฟล์ของแต่ละใบที่บันทึกมา

ผมขอนำเสนอเทคนิคที่ใช้เองเป็นประจำด้วยโปรแกรม Photoshop และเชื่อว่าให้ผลลัพธ์ที่เนียนสวย ไฟล์ไม่ช้ำ อาจจะมีขั้นตอนที่ซับซ้อนสักหน่อย แต่เชื่อว่าเพื่อนๆ สามารถทำตามขั้นตอนได้อย่างแน่นอนครับ

ขั้นตอนพอสังเขปมีดังนี้ครับ

  1. ใช้ Dust and Scratch ที่ซ่อนอยู่ใน Filter → Noise → Dust and Scratch 1 – 5 px threshold 10-30% โดยพยายามปรับแต่น้อยเพื่อไม่ให้เกิดการแตกตัวของไฟล์ภาพเป็นกลุ่มก้อน
  2. ตามด้วยการใช้ Minimum ที่ซ่อนอยู่ใน Filter → Other → Minimum 0.5 – 3 pixels โดยพยายามปรับให้ไม่เกิด Moire pattern (แพทเทิร์นแบบตาราง)

ที่ต้องใช้ถึง 2 วิธี ก็เพราะว่า Dust and Scratch ถ้าทำมากไปจะทำให้ภาพขาดความคมชัดหรือเกิดรอยจ้ำเฉพาะจุด ส่วนเทคนิค Minimum ถ้าทำมากไปก็จะเกิดตาราง Moire เราจึงต้องทำทั้งสองวิธี โดยทำอย่างละนิดละหน่อย

โดยทั้งสองขั้นตอนจะต้องมีการทำ selection แบบ luminosity ที่ Channels ใหม่ทุกครั้ง วิธีการทำแบบละเอียดจะเขียนอธิบายไว้ที่ caption ของแต่ละภาพนะครับ

**ปุ่ม Command บนคอมพิวเตอร์ Mac จะเท่ากับปุ่ม Control ในคอมพิวเตอร์ Windows นะครับ

เริ่มเลยครับ

1. หลังจากเปิดภาพมาแล้ว ให้ทำการ copy ภาพเพิ่มมาอีก 1 เลเยอร์ โดยกดคีย์ลัด “Command + J” จะได้เลเยอร์ขึ้นมาใหม่อีก 1 เลเยอร์

2. สร้าง luminosity selection ที่ Channels หากใครหาหน้าต่าง Channels ไม่เจอ ให้ไปเรียกหน้าต่างนี้ออกมาได้ที่ Window → Channels

Luminosity Selection

3. ทำการสร้าง luminosity selection โดยกดปุ่ม Command ที่คีย์บอร์ดค้างไว้ แล้วคลิกที่แถบที่มีชื่อว่า “RGB” ในหน้าต่าง “Channels”

เมื่อสร้าง luminosity selection ได้แล้ว จะมี selection ขึ้นเป็นเส้นประตามบริเวณที่มีความสว่างในรูปของเรา อย่างที่เห็นในภาพตัวอย่างนี้ครับ

ทำการปรับแต่ง Selection
.
4. หลังจากได้ luminosity selection แล้ว เราต้องปรับแต่ง selection นิดหน่อยครับ โดยไปที่แถบเมนูด้านบน “Select → Modify → Expand” กำหนดให้ขยาย 2 pixels ครับ เพื่อให้มั่นใจว่า selection ของเราใหญ่กว่าเม็ดดาว หากไม่ขยาย selection ให้กว้างกว่าเม็ดดาวแล้ว เวลาที่เราทำการลดดาวไม่ครบดวง ตรงขอบจะเกิดแสงดาวหลงเหลือ และปลิ้นออกมาได้ครับ
.
5. หลังจากขยาย selection แล้ว เราควรปรับให้ขอบของ selection ไม่แข็งกระด้างจนเกินไป ให้ไปที่ “Select → Modify → Feather” ใส่ค่า Feather radius เป็น 1 pixel ครับ

ซ่อนของ!!
.
6. ก่อนจะไปที่ขั้นตอนต่อไป เราควรซ่อน Selection (เส้นประ) เสียก่อนเนื่องจากมันกวนสายตา โดยให้กดปุ่มลัด “Command + H” หากมีข้อความเตือน ให้เลือก option ประมาณนี้ครับ “Hide/Show selections” กล่องข้อความนี้จะขึ้นเตือนแค่ครั้งแรกเท่านั้น ครั้งต่อไปเมื่อเรากด Command + H ในขณะที่ใช้งาน Photoshop ก็จะไม่แสดงตัวเลือกนี้อีกครับ เมื่อซ่อน Selection แล้ว ภาพก็จะไม่มีเส้นประกระพริบให้เราเห็น
.
!!!!!! แต่ Selection นั้นไม่ได้หายไปไหนนะครับ ยังถูกเลือกอยู่ เพียงแค่ถูกซ่อนเอาไว้เพื่อให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น

Dust and Scratches
.
7. มาถึงขั้นตอนการลดขนาดดาวครั้งที่ 1 ด้วยคำสั่ง “Dust & Scratches” ให้ไปที่แถบ Menu ด้านบน “Filter → Noise → Dust & Scratches” ขั้นตอนนี้ควรซูมภาพ 100% เพื่อสังเกตผลลัพธ์ คอยระวังไม่ให้ภาพเป็นวุ้น หรือเกิดรอยจ้ำเฉพาะจุด ค่าที่ใส่ก็จะอยู่ในช่วง 1-5 pixels ส่วน Threshold ก็ประมาณ 10-30 % สำหรับคนที่มีความชำนาญการใช้ layer mask แนะนำให้วาง layer mask ทับ แล้วเปิดการแสดงผลของการทำ Dust & Scratches แค่บริเวณท้องฟ้าครับ
.
หลังจากขั้นตอนนี้ จะยังมีเม็ดดาวหลงเหลืออยู่ ให้เราไปลดดาวต่อด้วยเทคนิค Minimum ในขั้นต่อไปครับ
.
***** หลังจากจบขั้นตอนนี้ อย่าลืม !!!! กดปุ่ม “Command + D” เพื่อเคลียร์ selection ของเก่า *****
.
ย้ำ!!!! ห้ามลืมกด Command + D เด็ดขาด

เตรียมพร้อมสำหรับขั้นต่อไป สร้าง Luminosity Selection ใหม่อีกครั้ง
.
8. เนื่องจากว่าค่าความสว่างในภาพมีการเปลี่ยนแปลงไป หลังจากการลดดาวในครั้งแรกไปแล้ว เราจึงต้องทำ Luminosity selection ใหม่อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ให้เพื่อนๆ กดปุ่ม “Command + D” อีกครั้งเพื่อให้มั่นใจว่าเราได้เคลียร์ selection ก่อนหน้าไปหมดแล้ว จากนั้นก็ไปที่หน้าต่าง Channels เช่นเดิม กดปุ่ม “Command + click เมาส์” ที่ Channels ที่ชื่อว่า “RGB”

.
9. หลังจากได้ luminosity selection แล้ว เราต้องปรับแต่ง selection อีกเช่นเคย โดยไปที่แถบเมนูด้านบน “Select → Modify → Expand” กำหนดให้ขยาย 2 pixels ครับ
.
10. หลังจากขยาย selection แล้ว เราควรปรับให้ขอบของ selection ไม่แข็งกระด้างจนเกินไปเช่นเดิม ให้ไปที่ “Select → Modify → Feather” ใส่ค่า Feather radius เป็น 1 pixel ครับ
.
11. ซ่อน Selection อีกเช่นเคยครับ เพื่อไม่ให้เส้นประของ Seletion กวนสายตา “Command + H”

ลดขนาดดาวรอบ 2 ด้วยคำสั่ง Minimum
.
12. ไปที่แถบเมนูด้านบน “Filter → Other → Minimum”
.
13. เลือก Preserve เป็น Roundness
.
14. ใส่ค่า Radius ให้อยู่ในช่วง 0.5 – 3 pixels ตัวเลขตรงนี้สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสภาพของไฟล์ภาพที่เรามี แต่ระวังไม่ควรใส่ค่าสูงเกินไป เนื่องจากจะทำให้ไฟล์ภาพช้ำ
.
15. เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว อย่าลืมกดปุ่ม “Command + D” เพื่อเคลียร์ selection นะครับ
.
***** ย้ำอีกครั้ง อย่าลืม Clear Selection “Command + D” *****

Final result
.
ภาพที่ได้หลังจากทำการลดเม็ดดาวก็จะเห็นรายละเอียดของใจกลางทางช้างเผือกชัดเจนขึ้น เทคนิคการลดดาวนี้ยังมีที่ว่างให้ปรับปรุงและพัฒนาได้อีกมาก เพื่อนๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับแนวทางของตัวเองได้เลยครับ

เปรียบเทียบ ซ้ายคือก่อนลดดาว ขวาคือหลังใช้เทคนิคลดดาว